กว่า 50 ปี จาก “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” สู่ “กรุงเทพมหานคร” ในวันนี้

กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีรูปแบบการปกครองและการบริหารรูปแบบพิเศษที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่น โดยในปี 2565 เป็นปีที่ 50 ที่มีการประกาศกำหนดให้กรุงเทพฯ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อบริหารงาน โดยในภาวะปกติจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง แต่ในบางช่วงเวลาผู้ว่าฯ มักจะถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐบาล สลับสับเปลี่ยนกันไปตามยุคสมัย เช่นในปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ ในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ให้ดำรงตำแหน่งแทน ลักษณะการเปลี่ยนพ่อเมืองเช่นนี้ ยังปรากฏอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

ภายหลังการสถาปนากรุงเทพฯ หรือรู้จักกันดีในชื่อ “เมืองบางกอก” ให้เป็นเมืองหลวงในปี 2325 กรุงเทพฯ ในยุคแรกๆ มีการปกครองในรูปแบบ “มณฑลกรุงเทพมหานคร” ซึ่งรวมเอาหัวเมืองใกล้เคียงผนวกเข้าด้วยกัน ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ ธัญญบุรี และมีนบุรี ภายใต้กำกับของกระทรวงนครบาลและเป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ปี 2457 ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของกรุงเทพฯ มาโดยตลอด

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2514 ช่วงที่คณะปฏิวัติทำหน้าที่บริหารประเทศได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 และ 25 ซึ่งมีสาระสำคัญคือสมควรปรับปรุงการปกครองของจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีโดยให้รวมเป็นจังหวัดเดียวกันเรียกว่า “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และกำหนดให้มี “เทศบาลนครหลวง” ประกอบด้วย “สภาเทศบาลนครหลวง” และ “เทศมนตรี” แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลนครหลวงไม่เกิน 36 คน และมีเทศมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 8 คน และมีผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นนายกเทศมนตรีนครหลวงโดยตำแหน่ง

หนึ่งปีให้หลังคือปลายปี 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ปรับปรุงการบริหารราชการของจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเสียใหม่ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น “กรุงเทพมหานคร” กำหนดให้มีผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภาเขตจากการแต่งตั้งเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ต่อมาภายหลังเกิดความรุนแรงทางการเมืองในเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ทำให้ได้มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติได้มีเสนอแก้ไขการปกครองกรุงเทพมหานครเพื่อให้เป็นการปกครองตนประชาชนอย่างแท้จริง โดยได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2518 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ โดยตรงจากประชาชน มีวาระละ 4 ปี

การประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2518 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกรุงเทพฯ อย่างน้อยที่สุดคือการกำหนดให้ “พ่อเมือง” ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง “กรุงเทพฯ โมเดล” มักถูกหยิบยกมาเป็นต้นแบบการปกครองเพื่อให้จังหวัดอื่นมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกเฉกเช่นเดียวกันกับเมืองหลวงแห่งนี้

เรียบเรียงโดย สราวุธ ทับทอง

ที่มา

– สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 5 เรื่องกรุงเทพมหานคร (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547)

– ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/A/144/816.PDF

– ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 25 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/A/144/820.PDF

– ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/190/187.PDF

– พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2518 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/A/042/1.PDF