มองกรุงเทพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว คำมั่นหรือคำลวง?

คงจะเคยได้ยินหรือคุ้นตาเป็นประจำสำหรับชาวกรุงเทพฯ กับป้ายสโลแกน “กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” คำโฆษณาที่ปรากฏหรูหราอยู่ใจกลางกรุง นานวันเข้า เจอแดด เจอฝน เจอลม เจอรถติด ผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปี คำๆ นี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณภาพชีวิตคนกรุงก็ไม่ต่างกันใช่ไหมล่ะครับ

ว่าแต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า สโลแกนคำนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ นานพอหรือยัง ที่จะทำให้มันกลายเป็นคำโกหกคำโตๆ หรือเป็น มีม (Meme) ล้อเลียนกันอยู่ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในปี 2547 สมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ มีการแถลงถึงความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนทิศทางกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่และยั่งยืน ด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านวัฒนธรรม และมิติด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว พร้อมตราสัญลักษณ์ลายประจำยามคล้ายดอกไม้ 4 กลีบ 4 สี โดยเปิดตัวงานในวันที่ 30 สิงหาคม 2547 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

4 กลีบ 4 สีที่ว่านั้น มีสีอะไรและแต่ละสีสื่อถึงอะไรบ้าง

กลีบสีเขียวของดอกไม้ หมายถึง มิติด้านคุณภาพชีวิต ที่กำหนดให้ประชาชนต้องมีความมั่นคงในคุณภาพชีวิต ระบบสัญจรความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินในเมืองหลวงต้องดีขึ้น ประชาชนสามารถเข้าบริการขั้นพื้นฐาน อย่าง การศึกษา การแพทย์ การกีฬา บริการจากสำนักงานเขตได้อย่างคลอบคลุม ตลอดไปถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชุมชนด้วยตัวเอง

กลีบสีฟ้าของดอกไม้ หมายถึง มิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้มีการตกแต่งเมืองให้สวยงามเพื่อรับเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว สร้างความเขียวชอุ่มให้แก่เมือง (City Greenways) สร้างทางเท้าน่าเดินทางจักรยานน่าใช้ (Street Greenways) สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในสร้างความร่มรื่นให้กับชุมชน รวมถึงกำหนดวาระการลดมลภาวะ น้ำ อากาศ เสียง ขยะ อย่างจริงจัง

กลีบสีชมพูของดอกไม้ หมายถึง มิติด้านวัฒนธรรม ที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม (City of culture) ที่จะมีกิจกรรมดนตรีไทยและนานาชาติ ภาพยนตร์และนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพิ่มคุณค่าด้านย่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ ร่วมกับชุมชนในการฟื้นฟูเอกลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านการเชื่อมโยงศิลปะชุมชนสู่คนสู่เป้าหมายการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว

กลีบสีส้มของดอกไม้ หมายถึง มิติทางเศรษฐกิจที่สมดุล ที่กำหนดให้มีการสร้าง Bangkok Brand สนับสนุนเศรษฐกิจชานเมือง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนทุกระดับ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน อำนวยบริการขั้นพื้นฐานแก่นักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ ผ่านการจัดตั้งศูนย์ The foreign investment advisory center และศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวต่างชาติด้านข้อมูลการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือ Foreigner call center

เป็นตลกร้ายที่ตามหลอกหลอนชาวกรุงในทุกคืนวัน ผ่านไปกว่า 18 ปี จากผู้ว่าฯอภิรักษ์ ผู้ว่าฯสุขุมพันธ์ จนถึงผู้ว่าฯ อัศวิน เจ้าของวลี กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เป็นที่ประจักษ์ให้พบเห็น กลีบของดอกไม้ที่ว่า ดูเหมือนจะเป็นแค่คำลวง มากกว่าคำมั่นที่ให้ไว้ ไม่เชื่อลองค้นหาศูนย์ข้อมูลที่กล่าวถึงแทบจะไม่เจอเลยครับ หรือถูกน้ำฝน น้ำรอระบายพัดผ่านหายไปตามกาลเวลา สิ่งสำคัญที่สุดของงานยากของกรุงเทพฯ คือ การบริหารและจัดการ มิใช่การสร้างคำสวยหรูขึ้นเพื่อมาตบตาชาวกรุง 22 พฤษภานี้ อย่าลืมชี้ชะตากรุงเทพฯ อีกครั้งครับ