31 พฤษภาคม 2504 โดยจากวันนั้นสู่วันนี้ ถือเป็น 61 ปี ที่ประโยควรรคทองดังกล่าวยังคงถูกใช้ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน
31 พฤษภาคม ถือเป็นวันหนึ่งที่ นายครอง จันดาวงศ์ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย เจ้าของวลี “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้าจากอำนาจมาตรา 17 ในสมัยการปกครองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ณ ลานประหารชั่วคราว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 โดยจากวันนั้นสู่วันนี้ ถือเป็น 61 ปี ที่ประโยควรรคทองดังกล่าวยังคงถูกใช้ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน
สำหรับนายครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2451 ในครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร บิดา ชื่อ นายกี จันดาวงศ์ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี) มารดาชื่อ แม่เชียงวัน ทั้งบิดาและมารดามีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน โดยเป็นคนสุดท้อง และประกอบอาชีพเป็นครูที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน ต่อมาได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านบงเหนือ และย้ายไปเป็นครูอีกหลายโรงเรียน จนกระทั่งย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ตำบลพันนา ในอำเภอสว่างแดนดิน
สำหรับนายครอง จันดาวงศ์ ถือเป็นอดีตเสรีไทยสายอีสาน ผู้ได้ชื่อว่า เป็น “วีรบุรุษ สว่างแดนดิน” โดยเขาร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้น และเขามีแนวคิดในการต่อต้านคัดค้านระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด โดยเขาเคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 2491 และกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 ถูกปล่อยตัวออกมาในช่วง พ.ศ. 2500 ในกรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล
ช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการยุบสภาและเปิดให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน ครูครองลงสมัคร ส.ส. และถือเป็นผู้ชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร ในนามพรรคแนวร่วมเศรษฐกร แต่อยู่ได้เพียง 10 เดือน เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหารตัวเองและขึ้นครองอำนาจ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศเพียง 20 มาตรา จากนั้นก็ลงมือกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้นออกจากตำแหน่ง ส.ส. นายครองก็ได้ไปประกอบอาชีพครูควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร โดยยังคงทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม ต่อมาได้มีการจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” เพื่อทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และอบรมสั่งสอนประชาชนที่ทุกข์ยากให้รู้จักถึงความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งครูครองถือเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมดังกล่าว
อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจรัฐที่มีอยู่ขณะนั้น นายครองก็ถูกล้อมจับในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2504 และถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่าง ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน พร้อมกับฝากวาทะสำคัญอันลือเลื่องไว้ก็คือ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนถูกกระสุนประหารจบชีวิตวีรบุรุษสว่างแดนดิน และเป็นประโยคที่ใช้กันทุกเมื่อในยามที่เผด็จการครองอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งยุคนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน
ที่มา
– ประชาไทออนไลน์ (2562), “58 ปี วาทะ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ครูครอง กับคำที่ยังมีชีวิต,” https://prachatai.com/journal/2019/05/82726
– ศิลปวัฒนธรรม (2564), “ครูครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้ปชต.เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_7479