7 วันหลังเลือกตั้ง ชัชชาติทำอะไรบ้าง?

7 วัน ที่ผ่านมา ผู้ว่าคนนี้ ทำอะไรไปแล้วบ้าง จะขอพามาสำรวจตรวจงานในบทความนี้

นับเป็นเวลากว่า 7 วันหลังจากเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผลการเลือกตั้งออกเป็นเสียงเดียวกันทั่วกรุงเทพมหานครในการไว้วางใจให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 8 สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นไปกว่า 1,386,215 คะแนน และล่าสุดได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 เป็นที่เรียบร้อย แต่กว่า 7 วัน ที่ผ่านมา ผู้ว่าคนนี้ ทำอะไรไปแล้วบ้าง จะขอพามาสำรวจตรวจงานในบทความนี้ครับ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางไปวิ่งที่สวนลุมพินี ตั้งแต่เวลา 05.30 น. ต่อด้วยการสำรวจปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากรอบคลองลาดพร้าวกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ประสานงาน ส.ก.พรรคก้าวไกลทั้ง 14 เขต พร้อมกับว่าที่ส.ก.พรรคก้าวไกล เขตลาดพร้าวและจตุจักรในการสำรวจสภาพพื้นที่ จากจุดวัดลาดพร้าวไปจนถึงประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ก่อนย้อนกลับไปถึงประตูระบายน้ำคลองบางซื่อ ชุมชนบ้านมั่นคง รวมทั้งจุดกักขยะในคลอง และดูระบบการคัดแยกขยะโดยบริษัทเอกชน

โดยในตอนสุดท้ายของวันได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ และมูลนิธิดวงประทีป เขตคลองเตย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ที่นายชัชชาติ ได้มาเปิดตัวเป็นผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.ในนาม ทีม “Better Bangkok” ที่ตรอกโรงหมู ชุมชนคลองเตย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และยืนยันกับชาวชุมชนคลองเตยว่าจะเป็น “ผู้ว่าฯ ติดดิน” ซึ่งในจุดนี้มีว่าที่ ส.ก.เขตคลองเตย กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ร่วมลงพื้นที่ด้วย พร้อมรับเค้กวันเกิดจากครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ในโอกาสที่จะครบรอบ 56 ปี

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565

ชัชชาติทำบุญวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 56 ปีพร้อมกับ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ (พี่ชายฝาแฝด) และอาจารย์ปรีชญา สิทธิพันธุ์ (พี่สาว) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

จากนั้นเวลา 14.30 น. ชัชชาติลงพื้นที่ฝั่งธนบุรี เพื่อสำรวจสภาพการจราจรในขณะที่มีการก่อสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ซึ่ง กทม. เป็นเจ้าของโครงการ แต่พบว่ามีการขยายสัญญาอย่างต่อเนื่อง ล่าช้ามากว่า 600 วัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเรื้อรัง โดยมีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และว่าที่ ส.ก.เขตธนบุรี พรรคเพื่อไทย และ ว่าที่ ส.ก. เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมคณะ

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565

เวลา 05.15 น. ชัชชาติ ได้เดินทางมาที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ถนนกำแพงเพชร 3 เขตจตุจักร เพื่อร่วมวิ่งออกกำลังกาย ระยะทาง 10 กิโลเมตร พร้อมพูดถึงนโยบายทำ Bangkok City Trail เส้นทางวิ่งได้ เดินได้ รอบกรุงเทพฯ 500 กิโลเมตร

เวลา 14.10 น. ชัชชาติลงพื้นที่สำรวจแยกลำสาลี เขตบางกะปิ สำรวจการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้ม ร่วมกับ ว่าที่ ส.ก. พรรคเพื่อไทย เขตสะพานสูงและเขตคันนายาวโดยปัญหาหลักในพื้นที่แยกลำสาลี คือ มีสภาพการจราจรติดขัดจากการก่อสร้าง เหมือนกับในพื้นที่เขตธนบุรี พร้อมย้ำกำชับเร่งการก่อสร้างและไม่ให้ผู้รับเหมาทิ้งวัสดุก่อสร้างบนทางเท้าสัญจรของประชาชน

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยสารเรือคลองแสนแสบ จากท่าเรือเดอะมอลล์บางกะปิ ไปท่าเรือประตูน้ำ เพื่อสำรวจปัญหาการใช้งานเรือโดยสาร และรับฟังความต้องการจริงจากประชาชนต่อการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในอนาคต

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565

เวลา 06.00 น. หลังจากเสร็จสิ้นการออกกำลังกาย ชัชชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่สวนบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะของ กทม. เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างซอยเพชรเกษม 4 กับซอยจรัญสนิทวงศ์ 2 โดยมี ว่าที่ ส.ก. เขตบางกอกใหญ่ และนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ มาร่วมสำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของทางราชการโดยรอบชุมชน ซึ่งมีพื้นลานคอนกรีตของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ปิดกั้นพื้นที่ไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์

เวลา 14.30 น. ร่วมสำรวจพื้นที่พร้อมด้วย นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี และ ว่าที่ ส.ก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมลงพื้นที่สำรวจชุมชนปิ่นเงิน ซอยช่างอากาศอุทิศ 16 เขตดอนเมือง เรื่องการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกับชาวบ้านในพื้นที่

เวลา 15.55 น. น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย ส.ก. เขตสายไหม เข้าร่วมพิธีเบิกเนตรท้าวเวสสุวรรณ ณ วัดเกาะสุวรรณาราม พร้อมกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดย น.ต.ศิธา ได้มอบนโยบาย “รถเมล์ไฟฟ้าหรือ Articulate Bus ใต้ทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา ให้นายชัชชาติ นำไปพิจารณา

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565

เวลา 10.30 น. ชัชชาติพร้อมด้วยจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตรองปลัด กทม. และนายภิมุข สิมะโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่บริเวณแยกวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าติดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีวงศ์สว่าง ทางออก 4 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 ซึ่งติดป้ายระบุว่า “ได้ยินยอมให้สำนักงานเขตบางซื่อ จัดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร”

เวลา 13.00 น. ร่วมงานแถลงเปิดตัวงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 จัดโดยคณะทำงานบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวัน 5 มิถุนายน 2565 โดยจะมีขบวนพาเพรดครั้งแรกใจกลางกรุงฯ จากวัดแขกสู่ถนนสีลม โดยตามสากลในเดือนมิถุนายนแคมเปญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

เวลา 14.20 น. ลงพื้นที่สำรวจแฟลต 12 เคหะบางบัว เขตหลักสี่ ตรวจสอบปัญหาขยะ การก่อสร้างท่อระบายน้ำขวางทางสัญจร และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ร่วมกับ ว่าที่ ส.ก.เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย และ สมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ โดยแจ้งว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าทุกเขตต้องจริงจังแก้ไขปัญหาประชาชน ผู้อำนวยการเขตต้องสนใจปัญหาในพื้นที่ ไม่ต้องรอ ผู้ว่าฯ จัดการ ย้ำชุมชนต้องเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือเขต ช่วยกันดูแลและทุกเขต

เวลา 19.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ ว่าที่ ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ และ นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมชมงานศิลปะภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช จัดโดยภาคประชาสังคมกลุ่ม “ดินสอสี” ที่เดินหน้าจัดเทศกาลศิลปะชุมชนตามย่านต่างๆ ของ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วกทม. และผลักดัน นโยบาย 50 ย่าน 50 อัตลักษณ์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์รายเขต

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565

เวลา 14.00 น. ชัชชาติ ลงพื้นที่แยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ เพื่อพบประชาชนในวันหยุดสุดสัปดาห์ พร้อมสำรวจปัญหาการก่อสร้างที่มีความล่าช้า และติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อ 24 พ.ค. พร้อมย้ำถึงนโยบายเกี่ยวกับการค้าขายริมทางยังไม่เปลี่ยนแปลง ต้องมีการดูแลกวดขันไม่ให้การรบกวนผู้สัญจรทางเท้า

เวลา 16.35 น. ลงพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร กรุงเทพฯ พูดคุยกับผู้ประกอบการ โดยเริ่มตั้งแต่เมโทรมอลล์ รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร โดยได้เข้าสอบถามพ่อค้าแม่ค้าในร้านค้าต่างๆ ซึ่งบอกเล่าถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565

เวลา 13.30 ชัชชาติ พร้อม ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ ลงพื้นที่เขตวัฒนาร่วมกับ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นายสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และ ว่าที่ ส.ก. เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล เพื่อสำรวจชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (สน.ทองหล่อ) ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช พร้อมเยี่ยมหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเดินทางจากบ้านพักส่วนตัวด้วยการปั่นจักรยาน หลังเสร็จภารกิจวิ่งออกกำลังกายกับนักวิ่งเพื่อนชัชชาติที่สวนหลวง ร.9

เวลา 17.20 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ปรากฏตัวในงาน และพิธีกรได้ประกาศเชิญนายชัชชาติ ให้กล่าวพูดคุยกับผู้ร่วมงาน ที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ 3 พร้อมตอบประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ชุมนุม และการยกเลิกมาตรา 112

ที่มา

– ประชาชาติธุรกิจ (2565), “ชัชชาติ ควงอดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ลุยที่รกร้าง เคลียร์เพิ่มพื้นที่สีเขียว”, https://www.prachachat.net/politics/news-940177

– บีบีซีไทย (2565), “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : สำรวจนโยบาย 214 ข้อ ที่ข้าราชการ กทม. ต้องอ่าน หลังว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ “3 ภารกิจเร่งด่วน”, https://www.bbc.com/thai/thailand-61565919

– ผู้จัดการออนไลน์ (2565), “ชัชชาติ” ลงพื้นที่เคหะบางบัว ส่งสัญญาณกระตุ้นผู้บริหาร ย้ำเขตต้องไว้ใจชุมชน ชวนเป็นพลังพัฒนา”, https://mgronline.com/politics/detail/9650000050575

– สำนักข่าวไทย (2565), “ชัชชาติ” ร่วมแถลงข่าวงาน Bangkok Naruemit Pride 2022”, https://tna.mcot.net/social-949792

– บ้านเมือง (2565), “ชัชชาติ” ลงพื้นที่ตลาดจตุจักร บรรยากาศหงอยเหงา เสียงวอนอย่าเพิ่งขึ้นค่าเช่า, https://www.banmuang.co.th/news/politic/282298

– ผู้จัดการออนไลน์ (2565), “ชัชชาติ” ตอบ “รุ้ง” ยกเลิก ม.112 ไม่ง่าย ต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน เชื่อ “เวลาอยู่ข้างพวกเรา, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000051073