ฟิตจัด “ชัชชาติ” ออกสตาร์ท ตี 5 แก้รถติดแยกรามคำแหง

ชัชชาติ ฟิตจัด ออกสตาร์ท ตี 5 แก้รถติดแยกรามคำแหง ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

(15 มิ.ย.65) เวลา 05.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เปิดการจราจรทางยกระดับรามคำแหง (ขาเข้า) ในพื้นที่เขตบางกะปิ โดยมี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา คณะผู้บริหารสำนักการโยธา สถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ และบริษัทผู้รับจ้างฯ ร่วมลงพื้นที่

เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งก่อสร้างในแนวบริเวณถนนรามคำแหง เป็นช่วงของรถไฟฟ้าใต้ดิน ดังนั้นหลังคาของสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม (สถานีรามคำแหง 12) จะต้องอยู่ใต้โครงสร้างของทางยกระดับรามคำแหงช่วงทางลงฝั่งขาเข้า ระยะทางยาวประมาณ 300 ม. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงได้ยื่นขออนุญาตต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการรื้อย้ายทางยกระดับบางส่วน และดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว และเมื่อการก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับช่วงที่รื้อย้ายกลับคืน ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าวมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างที่มีความล่าช้ายาวนานมาแล้วกว่า 4 ปี ทำให้เกิดปัญหาการจราจรย่านรามคำแหง สำนักการโยธา กทม. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการพิจารณาอนุญาตโครงการฯ ได้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันงานก่อสร้างทางยกระดับรามคำแหงแล้วเสร็จ พร้อมเปิดการจราจรได้ในวันที่ 15 มิ.ย.65 ตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับประชาชน

นายชัชชาติ กล่าวว่า เช้านี้ได้มาดูการจราจรเส้นรามคำแหงบริเวณดังกล่าวมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมาได้มีการปิดการจราจรสะพานข้ามแยกรามคำแหงทำให้รถต้องลงมาใช้ทางราบส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด โดยได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯวิศณุเร่งรัดการก่อสร้างจนเปิดการจราจรเมื่อเวลา 05.30 น. ให้สามารถขึ้นจากบริเวณใกล้ๆแยกลำสาลีวิ่งเข้าเมืองไปลงถนนพระราม 9 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรได้ ต่อมาได้มาดูการจราจรแถวรามคำแหง 40 ซึ่งการจราจรติดขัดเหมือนกัน โดยจะเร่งคืนพื้นผิวจราจรทางราบเพื่อเคลียร์เครนก่อสร้างออกไป จากนั้นมาดูแถวแยกลำสาลี ซึ่งจะคืนพื้นที่ถนนในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ในภาพรวมจะเร่งคืนทางเท้า พื้นผิวจราจร ตรวจสอบระบบระบายน้ำระหว่างเส้นทาง ซึ่งอาจมีปัญหาจากการก่อสร้างไปโดนท่อระบายน้ำเสียหาย ถ้าเกิดฝนตกอาจเกิดน้ำท่วมทางเดินเท้า รวมถึงการนำสื่อสารลงดิน ซึ่งจะได้ดำเนินการควบคู่กันไป จะได้ไม่ต้องไม่ขุดใหม่ รวมถึงด้านความปลอดภัยด้วย เนื่องจากประชาชนต้องเดินข้ามตรงทางม้าลายทั้ง 2 ฝั่งเพราะปัจจุบันสภาพทางเท้าไม่ดีเนื่องจากมีการก่อสร้างอยู่ อีกทั้งสะพานลอยคนข้ามถูกรื้อออกไป การขยับแบริเออร์เข้าอีก 5 ซม. ก็จะช่วยเพิ่มพื้นผิวการจราจรได้อีกมากทำให้รถเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ซึ่งตั้งเป้าจะแล้วเสร็จ 2 ต.ค.นี้ ส่วนไหนเสร็จก็ทยอยเปิดใช้งาน โดยจะเร่งรัดรีบคืนพื้นที่ให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

“นับว่าเป็นการร่วมมือกันของ 4 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร รฟม. ส่วนจราจร และผู้รับจ้าง ในการพูดคุยประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ทางเราเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องเข้มงวดกวดขันในเรื่องคุณภาพในการคืนพื้นที่ให้แก่ประชาชน โดยเอาความสะดวกประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อการเดินทางอย่างปลอดภัย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ด้านรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานทางปฏิบัติร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร และรฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว ป้องกันอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ประสานผู้รับจ้างดูแลไฟส่องสว่าง ป้ายสัญญาณต่าง ๆ รวมถึงการเปิดช่องทางจราจรให้มากที่สุดและมีความชัดเจน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น