90 ปี 9 วาทกรรมประชาธิปไตย

แฮปปี้เบิร์ดเดย์ประชาธิปไตย!!! 90 ปี

ในวันครบรอบ 9 ทศวรรษ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยกลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” อันประกอบด้วยพลเรือน ทหาร ตำรวจ โดยมี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าผู้ก่อการ เข้าปฏิวัติการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเดินทางของประชาธิปไตยไทยในเวลา 90 ปี ถือว่านานพอควร นานพอที่จะอรรถาธิบายว่า สภาพคนชราวัย 90 ปี ตลอดช่วงอายุที่ผ่านมาเจอมรสุมอะไรมาบ้าง ทั้งล้มลุก คุกเข่า ต่อสู้ จนมาถึงปัจจุบัน ก็ยังคงสภาพไม่ต่างกัน หากย้อนดูวาทกรรมประชาธิปไตยตลอดการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาก็จะพบว่า ประชาธิปไตยในประเทศ ถูกต่อท้ายด้วยคำคุณศัพท์ ขยายความให้มันอยู่เสมอ บ้างกลายเป็นวาทกรรมหลอกหลอน ให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา บ้างเป็นวาทกรรมให้ลุกขึ้นต่อสู้ ทั้งหมดร้อยเรียงอยู่ในวงล้อประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้

“ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” วาทกรรมสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการเมืองอำนาจนิยมหรือระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ ให้ความหมายประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบการเมืองที่อนุญาตให้มีประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเล็กน้อยๆ เป็นไม้ประดับ ตราบเท่าที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ไปกระทบกับอำนาจของชนชั้นนำจารีต และบุคคลที่มีอำนาจเพียงคนเดียว ไม่ใช่ผู้มีอำนาจแบบทรราช แต่ว่าเป็นผู้มีอำนาจที่สามารถประสานสามัคคีในชาติให้เกิดทุกหมู่เหล่า

“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” วาทกรรมสมัยการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2521 สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ความหมายประชาธิปไตยต่างจากระบอบสฤษดิ์ กล่าวคือ ประชาธิปไตยในยุคนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่อนุญาตให้ทั้งชนชั้นนำทหารและข้าราชการสามารถมีอำนาจทางการเมืองอยู่ได้

แต่ก็เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำในภาคธุรกิจ การเมือง และชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนแบ่งในอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมทั้งชนชั้นนำจารีตและฝ่ายพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ พรรคการเมือง และประชาสังคม

“ประชาธิปไตย 4 วินาที” อันหมายถึง ประชาชนผู้มีสิทธิในการปกครองประเทศ มีอำนาจหน้าที่เพียงแค่ 4 วินาที หน้าคูหาเลือกตั้ง อันแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อกระบวนการเลือกตั้งในแง่ที่ว่าประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสใช้อำนาจของตนเพียงชั่วขณะที่เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุด ก็ไม่มีศักดิ์และสิทธิในการปกครองอีกต่อไป

“ประชาธิปไตยปลายกระบอกปืน” อันแสดงถึง การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะทหารผู้ก่อการรัฐประหารรัฐบาลก่อนหน้าด้วยกำลัง อาวุธและปลายกระบอกปืน เมื่อมีอำนาจเข้ามาก็ใช้กลไกที่ตัวเองมีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จออกกฎร่างกติกาเพื่อให้กลุ่มตนได้ผลประโยชน์และเพื่อกำจัดฝ่ายคนผู้เห็นต่าง

“ประชาธิปไตยเต็มใบ” เป็นวาทกรรมในช่วงระยะเวลาที่ประเทศมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้กำหนดทิศทางการเมืองไทยได้อย่างแท้จริง ทั้งการส่งตัวแทนเข้าไปบริหาร และการตรวจสอบและแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย ยกตัวเอย่างเช่น การเมืองในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้น

“ประชาธิปไตยจอมปลอม” เป็นวาทกรรมที่ใช้บ่อยและมากที่สุดเพื่อโจมตีฝั่งซึ่งถูกเรียกว่าเป็นระบอบทักษิณ โดยกล่าวหาว่า มีคณะกลุ่มคนซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยแต่แท้ที่จริงแล้วเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์หลังการเลือกตั้งและใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ บ้างก็อ้างว่าเข้ามาโดยการซื้อสิทธิขายเสียงจากประชาชน จึงเสมือนหนึ่งว่า ประชาธิปไตยที่อ้างถึงเป็นเพียงแค่ประชาธิปไตยจอมปลอม

“เผด็จการประชาธิปไตย” เป็นวาทกรรมของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เหตุผลที่ควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในทำนองว่า

ตนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้ทำรัฐประหารเข้ามาแต่ก็ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข และเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ มากกว่าแคนดิเดตอีกคน “สิ่งที่ตนถูกกล่าวหาว่านิยมเผด็จการนั้น ตนเพียงแค่นิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมพวกประชาธิปไตยจอมปลอม”

“ประชาธิปไตยกินได้” เป็นวาทกรรมหลังพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะทางการเมืองในปี 2544 ภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบประชานิยม กล่าวคือ เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ผ่านการมอบอำนาจไว้กับนักการเมืองซึ่งเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก ท้ายที่สุดก็มีการบริหารและแปรเสียงเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายประชานิยม

“ประชาธิปไตยสุจริต” เป็นวาทกรรมผ่านการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ด้วยหมายถึงการเข้ามาในตำแหน่งอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยโดยการบริหารโดยยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และหลักธรรมาภิบาล และไม่มีการทุจริต โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในวิดีโอผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวตอนหนึ่งในช่วงการหาเสียงว่า “ประชาธิปไตยจะใช้การได้ ต้องสุจริตเท่านั้น”

#NewsXtra #90ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง #คณะราษฎร์

.

ที่มา

– ประชาไท( 2562), “เสรี สุวรรณภานนท์ : ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย ไม่ได้นิยมพวกประชาธิปไตยจอมปลอม”, https://prachatai.com/journal/2019/06/82812

– ประจักษ์ ก้องกีรติ (2562), “ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน ของเธอ”, http://v-reform.org/wp-content/uploads/2014/01/Democracy.-Rj.Prajak.pdf

– ประชาไท (2554), “ประชาธิปไตย 4 วินาที”, https://prachatai.com/journal/2011/05/34561

– ศิลปวัฒนธรรม (2565), “24 มิถุนายน 2475 ‘ประชาธิปไตย’ ไทยครบรอบ 90 ปี”,https://www.silpa-mag.com/history/article_88290

– ประชาชาติ (2562), “แคมเปญเด็ดเสร็จ ‘ไพ่ตาย’ ‘ประชาธิปไตยสุจริต’ รับสารพัดพิษ ‘อนุรักษนิยม’”, https://www.prachachat.net/politics/news-307769