มติใหม่ “สภา กทม.” เตรียมถ่ายทอดสดถกงบฯ ขานรับนโยบาย “ชัชชาติ”

โฆษกสภา กทม.เผย เตรียมถ่ายทอดสดถกงบ ขานรับนโยบายชัชชาติ เพื่อความโปร่งใส

วันที่ 4 ก.ค.65 น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากทม. เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 6 ก.ค. สภากรุงเทพมหานครจะเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการปฏิหน้าที่ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้เป็นครั้งแรก

สำหรับวาระสำคัญของการพิจารณาคือ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส” ได้แก่ Youtube และ Facebook เพจ Thai PBS ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมรับทราบข้อมูลการพิจารณาที่โปร่งใส สอดคล้องกับนโยบายของฝ่ายบริหาร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

น.ส.นฤนันมนต์ ระบุ อย่างไรก็ตามข้อกังวลเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดการประชุมครั้งนี้คือการที่ ส.ก. ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในการอภิปรายเหมือนเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเอกสิทธิ์คุ้มครองหมายถึงสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติจะได้รับความคุ้มครองจากการฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาจากการกระทำหรือคำพูดที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เนื่องจาก ส.ก.ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองดังกล่าว ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการกล่าวก้าวล่วงบุคคลที่สามเป็นพิเศษ ในอนาคตหากเป็นไปได้อยากจะให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกได้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชนได้อย่างเต็มที่

“นอกจากนี้ ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้มีการเปิดเผยสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เป็นสาธารณะเพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งในประเด็นนี้สภากรุงเทพมหานครขอให้ฝ่ายบริหารได้เปิดเผยข้อมูลของหน่วยงาน อาทิ โครงการ สัญญาจ้าง งบประมาณ ย้อนหลังด้วย เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูล ป้องกันการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และเปิดประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุด”

“ที่ผ่านมามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับงบฯเขต โดยเข้าใจว่าแต่ละเขตมีงบมากถึง 300-500 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแต่ละเขตมีงบไม่มาก อาทิ เขตคลองสามวาซึ่งอยู่ในความดูแล มีงบเพียง 72 ล้านบาท แต่ในข่าวที่มีการนำเสนอคือ มีงบ 400 ล้านบาท โดยข้อเท็จจริงคือ หน่วยงานอื่น อาทิ สำนักการโยธาได้ตั้งงบเพื่อการก่อสร้างโรงพยาบาลคลองสามวา ในพื้นที่เขตคลองสามวาด้วย จึงทำให้งบประมาณซ้อนกันอยู่ ซึ่งหากมีการเปิดเผยรายละเอียดให้ชัดเจนจะลดความสับสน และประชาขนสามารถเข้าใจกระบวนการจัดสรรงบประมาณได้ดียิ่งขึ้น และหากประชาชนอยากร่วมพูดคุยหรือร้องเรียนข้อเดือดร้อน สามารถแจ้งผ่านเพจของ สภากรุงเทพมหานคร หรือเพจส่วนตัวของส.ก.ทั้ง 50 ท่านได้ ซึ่งส.ก.ทุกท่านพร้อมติดตามและแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน” โฆษก สภา กทม. กล่าว