ย้อนดู14 ปี พรรคภูมิใจไทย
กว่า 14 ปีหลังการก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ก่อนคำกล่าว “มันจบแล้วครับนาย” จะจบลง พรรคภูมิใจไทย ภายใต้ตระกูล “ชิดชอบ” และ “ชาญวีรกูล” 2 ตระกูลทางการเมือง ที่โบกมือลาพรรคพลังประชาชน แล้วเข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 แม้ยุทธศาสตร์เป็นรัฐบาลตลอดกาลจะสะดุดลงในปี 2554
ด้วยสัญญาใจไม่มาตามนัดของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งนำโดย “เติ้งเสี่ยวหาร” บรรหาร ศิลปอาชา ที่ก่อนการยุบสภามีการสัญญาใจไว้ว่า ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งสามพรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จะจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาล
ทว่าในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบด้วยการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงที่นั่ง กว่า 51 ที่นั่ง ก่อนจะเพิ่มเป็น 65 ที่นั่งในปัจจุบันด้วยกระแส “พูดแล้วทำ” และกระสุนที่สะสม ต่อรอง ในทางการเมือง
ย้อนดูปี 51 ถึงปี 54 ของการร่วมรัฐบาลของคณะรัฐมนตรีชุดที่ 59 และ ปี 62 – ปัจจุบัน พบว่ากระแสและกระสุนของพรรคภูมิใจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจในการต่อรองย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย หากเทียบงบประมาณดูในปี 2566 พบว่า จังหวัดที่มีงบประมาณลงไปมากที่สุด คือ บุรีรัมย์ ตามมาด้วย สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และศรีสะเกษ ซึ่งทั้ง 5 จังหวัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฐานที่มั่นของพรรคภูมิใจไทย
คณะรัฐมนตรีชุดที่ 59 ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลโดยได้รับเก้าอี้ในรัฐบาลไป 7 ที่นั่งพร้อมตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้
– นายชัย ชิดชอบ เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร
– นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็น รมว. กระทรวงมหาดไทย
– นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรค เป็น รมว. กระทรวงพาณิชย์
– นายโสภณ ซารัมย์ เป็น รมว. กระทรวงคมนาคม
– นายชาติชาย พุคยากรณ์ เป็น รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะลาออก และต่อมา นายศุภชัย โพธิ์สุ รับตำแหน่งแทน
– นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ เป็น รมช. กระทรวงคมนาคม ก่อนจะลาออก และต่อมา นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รับตำแหน่งแทน
– นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็น รมช. กระทรวงมหาดไทย
– นายมานิต นพอมรบดี เป็น รมช. กระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะลาออก และต่อมา นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รับตำแหน่งแทน
คณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลโดยได้รับเก้าอี้ในรัฐบาลไป 7 ที่นั่งพร้อมตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 โดยได้รับรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้
– นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็น รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
– นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเป็น รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงสาธารณสุข
– นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค เป็น รมว. กระทรวงคมนามคม
– นายพิพัฒน์ รัชชกิจประการ เป็น รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
– นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็น รมช. กระทรวงมหาดไทย
– นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็น รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็น รมช. กระทรวงคมนาคม
– นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็น รมช. กระทรวงศึกษาธิการ
ถึงวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำพูดที่ว่า “เป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง” เป็นเรื่องที่พิสูจน์พอสมควรต่อการชี้ชะตาอนาคตพรรคในการเลือกตั้งรอบหน้า การเป็นพรรครัฐบาลโอกาสในการสร้างผลงานในการบริหารและต่อยอดสู่การหาเสียงในครั้งหน้ามีผลอย่างยิ่ง อย่างน้อยๆ อายุรัฐบาลในคณะรัฐมนตรีที่ 62 ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 4 ก็เป็นเครื่องมือยืนยันแล้วว่า พรรคภูมิใจไทยเติบโตและสามารถขายนโยบายอย่าง “กัญชาเสรี” และการกระจายอำนาจอย่าง การส่งมอบ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลให้กับท้องถิ่น รวมไปถึงการบริหารจัดการต่อสถานการณ์โควิดในฐานะเจ้ากระทรวง
การเลือกตั้งในครั้งหน้าหากดูจำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้ ก็คงเป็นสัญญาณบวกของพรรคว่าพรรคโตจริงและไม่มีฟองสบู่ เทียบจากกลุ่ม ส.ส.ในแถบอีสานใต้ที่ประกาศเข้ามาร่วมงานในการเลือกตั้งครั้งหน้า นับว่าเป็นชัยชนะในรอบ 14 ปีของพรรคก็ว่าได้
ที่มา
– ไทยรัฐออนไลน์ (2554), “อีกไม่นานยุบสภา ‘เนวิน’ปูด เติ้งขอเปลี่ยนขั้ว”, https://www.thairath.co.th/content/149379
– วิกิพีเดีย (2565), “คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62”, https://th.wikipedia.org/wiki/คณะรัฐมนตรีไทยชุดที่ 62
– วิกิพีเดีย (2565), “คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 59”, https://th.wikipedia.org/wiki/คณะรัฐมนตรีไทยชุดที่ 59
– ผู้จัดการออนไลน์ (2565), “ภูมิใจไทย วางยุทธศาสตร์เป็นรัฐบาลตลอดกาล”, https://mgronline.com/specialscoop/detail/9650000018216