8 เครือข่ายแรงงาน บุกทำเนียบฯ ทวงค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท พปชร.สัญญาไว้ ไม่ทำ
วันที่ 18 ก.ค.65 ที่บริเวณทางเท้าข้างประตู 5 ถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายแรงงาน 8 องค์กร ประมาณ 20 คน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคมและปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการด่วน
เนื่องจาก ประกาศพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับที่ 4 ปี 2558 ในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง แต่ด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่และให้ชุดเก่าหยุดปฏิบัติงานพร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 วันที่ 9 ก.ค. 2562 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 พ.ศ 2558 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 รมว.แรงงาน ป้ายลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวและได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นเวลา 7 ปี ที่ผู้ประกันตนไม่ได้เลือกตั้งผู้แทนของตนในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคมโดยที่กระทรวงแรงงานไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่อย่างใด
รวมถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลได้กำหนดนโยบายหาเสียงไว้จะปรับค่าจ้าง 400-425 บาทผ่านมาแล้วกว่า 3 ปียังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อไหร่ ด้วยเหตุดังกล่าวองค์กรแรงงานทั้ง 8 แห่งจึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังนี้
1.ขอให้สำนักงานประกันสังคมกำหนดวันที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนของผู้ประกันตนที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเกิดการเตรียมความพร้อมของผู้ประกันตนที่จะลงสมัครเข้าเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนในการพัฒนากองทุนประกันสังคมโดยผู้ประกันตน
2.ขอให้สำนักงานประกันสังคม ยกเลิกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในข้อ 16(1)ของระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ 2564 ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เนื่องจากถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากให้ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้แทนของตนเอง เพื่อนำเสนอปัญหาของตนเองในกองทุนประกันสังคมและยังขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องหลักความเสมอภาคหรือหลักความเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ที่ประเทศเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ที่วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติไว้ว่า “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันว่าสิทธิทั้งหลายที่ระบุไว้ในกติกานี้ปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ” การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 111 เป็นต้น
3.ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกและแก้ไขร่าง พ.ร.บประกันสังคมแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 ในมาตรา 3 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมได้แก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตน โดยกำหนดการได้มาซึ่ง “ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรค 1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นการขัดหลักกับหลักการการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนของผู้ประกันตนโดยตรงและเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองแล้วฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายของกองทุนประกันสังคมได้ อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมและสิทธิของผู้ประกันตนโดยตรง
4.ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่พรรคพลังประชารัฐได้กำหนดนโยบายในการหาเสียงไว้
สำหรับรายชื่อองค์กรแรงงานทั้ง 8 แห่ง ดังนี้ 1.สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย 2.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 3.สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย 4.กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง 5.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 6.กลุ่มพัฒนาแรงงานสำคัญตะวันออก7.สหภาพคนทำงาน 8.เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ