เส้นทางการเมือง “มาดามเดียร์”

เปิดเส้นทางการเมือง วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์

หากเอ่ยเชื่อ “วทันยา วงษ์โอภาสี” หรือ “วทันยา บุนนาค” หรือฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้ “มาดามเดียร์” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก นอกจากเจ้าตัวจะเป็นที่รู้จักหลังจากการโลดแล่นในการเมืองระดับชาติ เป็นส.ส. บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐแล้วนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นที่รู้จักและโด่งดังในแวดวงกีฬาและวงการสื่อมาก่อนเช่นกัน

สำหรับ “มาดามเดียร์” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 61

จากนั้นได้ผันตัวเข้าสู่วงการธุรกิจด้วยการเป็นผู้บริหารสถานีดิจิทัลทีวี อย่างไรก็ตามในปี 2559 “ “มาดามเดียร์” ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนบทบาท ได้ปรากฎตัวในแวดวงการกีฬา โดยได้รับแต่งตั้งจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีนั่นเอง ต่อเนื่องมาถึงปี 2560 “มาดามเดียร์” ได้ทำหน้าที่เป็น ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นผู้จัดการหญิงคนแรกที่รับหน้าที่ดูแลทีมฟุตบอลชายโดยปีนั้นทีมชาติไทยสามารถรักษาแชมป์ได้สำเร็จ แต่ในปีเดียวกันนี้เอง “มาดามเดียร์” ได้ประกาศยุติบทบาท โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเป็นไปตามนโยบายของสมาคมฟุตบอล ที่ยกเลิกระบบผู้จัดการทีมชาติทุกชุดไปก่อนหน้านี้” ซึ่งนับแต่นั้น ทีมชาติไทยก็ยังไม่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ได้อีกเลย

หลังจากนั้นในปี 2561 ชื่อของ “มาดามเดียร์” ก็กลับมาได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวได้ ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคของพลังประชารัฐ ( พปชร.) ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ทั้งนี้หลังจากการเลือกตั้งในปี 2562 และภายหลังการเลือกตั้งซ่อม เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ โดย พรรคพลังประชารัฐได้รับ 27,861 คะแนน ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่ม 1 คน ดังนั้น “มาดามเดียร์” ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 19 จึงเลื่อนเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั่นเอง

อย่างไรก็ตามบาทบาททางการเมือง ในฐานะ ส.ส. ก็เรียกได้เป็นหน้าใหม่ที่ถูกจับตามอง ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในปี 2564 คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย โดยใช้เหตุผลว่า “ตลอดการอภิปรายและการชี้แจง ไม่พบคำชี้แจงที่ชัดเจนเพียงพอ ในการตอบคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน และทำให้สังคมตั้งข้อกังขา ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนเงื่อนไขและการล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และข้ออภิปรายเรื่องการไม่ปกป้อง หรือเรียกคืนที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นที่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจน”

ล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งสุดท้ายในรัฐบาลชุดนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา “มาดามเดียร์” ก็ยังย้ำจุดยืนเช่นเดิม โดยงดออกเสียงให้กับนายศักดิ์สยาม ในกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน เปิดประเด็นเพิ่มเติมกรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากได้ปรากฎหลักฐานที่มีครอบครัว และบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติ ถือครองที่ดินของการรถไฟเพิ่ม รวมถึงกรณี หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่นายศักดิ์สยาม ยังตอบไม่ชัดเจน ในการเคลียร์ตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว ตามที่พรรคก้าวไกลอภิปรายกล่าวหา ว่ามารับจ้างเหมาสัมปทาน และเป็นคู่เทียบในการประมูลงานภายในของกระทรวงคมนาคมนั่นเอง และยังได้งดออกเสียง นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีเหตุผลใกล้เคียงกัน คือการชี้แจง ยังมีข้อคำถามในหลายประเด็น พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า “ได้ตัดสินใจบนข้อมูล ไม่ได้นำความรู้สึกตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง” แต่อย่างไร

“มาดามเดียร์” มีก๊วน ส.ส. ชื่อกลุ่มดาวฤกษ์ ที่ประกอบด้วย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ,น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง,นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก,นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร และ น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.บางซื่อ-ดุสิต

ซึ่ง “มาดามเดียร์” เปิดเผยว่า จุดเริ่มแรกของการรวมกลุ่ม มาจากความคุ้นเคยตั้งแต่ลุยหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ผ่านด่านเข้าสภาทุกคนล้วนเป็น ส.ส.หน้าใหม่ อายุอานามไล่เลี่ยกัน สร้างความผูกพันและสนิทสนมผ่านภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ในหลายจังหวะหยิบยกปัญหาในพื้นที่ กทม.ขึ้นมาหารือ เพื่อแชร์ข้อมูลและความเห็นจัดการปัญหา ให้กับคนกรุงเทพมหานครโดยยึดประชาชนเป็นหลัก โดยหวังว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ดังนั้นหากรวมกันเยอะๆก็เปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้