(25 ส.ค.65) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุค คสช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดังนี้
วันที่ 24 ส.ค.65 ตรงกับวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายก คือเมื่อวันที่ 24 ส.ค.57 ครบ 8 ปีพอดี ผมและครม.ได้รับการโปรดเกล้า 30 ส.ค.57 และครม.ทั้งคณะได้เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เมื่อ 4 ก.ย.2557 เป็นอันว่าการเป็นรัฐบาลครบถ้วนทุกขั้นตอน เมื่อ 8 ปีก่อน สำหรับท่านนายก ถ้านับตามนี้ก็ 8 ปีพอดี
ยังจำได้ก่อนวันเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ครม.ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรอหมายให้เข้าเฝ้า ช่วงเวลาเข้าเฝ้าก็จะสั้นมาก ทุกคนจะต้องเตรียมชุดขาวไว้ในที่ที่จะเปลี่ยนชุดเป็นชุดขาวได้ทันที แล้วไปขึ้นรถขบวนที่ทำเนียบ ผมนั่งรถไปคันเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม บางท่านมาไม่ทันขบวนที่ทำเนียบก็ต้องมาเอง เช่น มรว.ปรีดิยาธร รองนายก มาเองโดยนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์มาในชุดขาวนั่นแหละ มาทันเข้าพิธีพอดี
ตั้งแต่บัดนั้นเราทุกคนก็เรียก พล.อ.ประยุทธ์ ว่าท่านนายก แล้วท่านก็ไม่เคยพ้นการเป็นท่านนายก บางคน/หลายคน จึงแปลกใจว่าทำไมต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ?
ได้รับทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องให้ตีความจากรัฐสภาแล้ว และให้นายกหยุดปฏิบัติหน้าที่
ผลของการตีความจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ประเด็นคือจะมีการยุบสภาหรือไม่ จึงอยากวิเคราะห์/ออกความเห็นและเอาเหตุการณ์ในอดีต ทั้งเบื้องหน้า/เบื้องหลัง มาเล่าเป็นบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ส.ส. การจะยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ พรบ.สำคัญ เช่น งบประมาณแผ่นดิน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายก ไม่ผ่านสภา และกรณีที่นายกตัดสินใจประกาศยุบสภา
ในระบอบการปกครองของไทยแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งเหมือนกับหลายประเทศในโลก ที่ใช้ระบบรัฐสภาอังกฤษคล้ายกัน นายกจะยุบสภาก็ต่อเมื่อยุบแล้วได้เปรียบทางการเมือง คือเมื่อเลือกใหม่พรรคของตน พวกของตนก็จะชนะเลือกตั้ง จะได้เป็นรัฐบาลอีก หรือถ้าเชื่อจริงๆว่าจะอยู่ไม่ได้นาน อาจแพ้ Vote ในสภา ที่ทำให้ต้องลาออก ซึ่งจะเสียหน้ามากๆ จึงชิงยุบสภาเสียก่อน
การยุบสภาของไทย ที่ผมอยู่ใกล้ อยู่ในเหตุการณ์ขอเล่าสองครั้งคือ การยุบสภาของท่านนายกชวนปี 2538 และท่านนายกบรรหาร 2539
รัฐบาลนายกชวนเริ่ม ก.ย. 2536 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เดือน พ.ค. ปีเดียวกันมีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคความหวังใหม่โดย พล.อ.ชวลิต เข้าร่วมรัฐบาล มีดร.อำนวย วีรวรรณเป็นรองนรม. ผมอยู่ทีมงาน ดร.อำนวย ส่วนฝ่ายค้านมีพรรคชาติไทย นำโดย พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นผู้นำฝ่ายค้าน คุณบรรหารซึ่งมาแทนคุณประมาณก็อยู่ฝ่ายค้าน
ที่จริงพรรคชาติไทยแพ้พรรคประชาธิปัตย์แค่สามคะแนน คือ 79 กับ 76 ซึ่งพรรคชาติไทยก็อยากตั้งรัฐบาลเพราะคุณบรรหาร เจ้าของวลีเด็ด “เป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้ง” แต่ไม่ได้เป็นก็ไม่ขุ่นเคืองอะไร ท่านยังแสดงความหวังดี โดยแนะนำ ดร.อำนวย และ พล.อ.ชวลิตซึ่งเกิดปีวอก ปีลิง ว่าวันเข้าทำเนียบไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นายกและรองนายกทำเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ให้เข้าทำเนียบตอนสายๆ เพราะนายกชวนเป็นคนปีขาล ปีเสือ ถ้าไปเช้าเสือจะกินลิง ท่านรองอำนวยก็ทำตามคำแนะนำ คือเข้าหลังเวลา 10.00 น.
มาถึงต้นปี 2538 เกิดกรณีที่ดินสปก-401 ที่มีการกล่าวหารัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีการจัดสรรที่ดินให้พวกพ้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ จ.ภูเก็ต มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมว.เกษตรฯ ซึ่งตอนลงคะแนนก็ผ่าน แต่พรรคพลังธรรมนำโดยพล.ต.จำลอง ศรีเมืองที่มีสส.อยู่ 46 คน ใหญ่เป็นที่สองของพรรคร่วม รองจากพรรคความหวังใหม่ เห็นว่าไม่ถูกต้อง ประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ท่านนายกชวนจึงประกาศยุบสภา เพราะอยู่ไปคงลำบาก
กรณีที่สอง รัฐบาลบรรหาร
หลังจากนายกชวนยุบสภา พ.ค. 2538 มีการเลือกตั้งใหม่ คราวนี้พรรคชาติไทยได้โดยคุณบรรหารชนะ ได้สส.91 คนได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์มีสส. 86 คนเป็นฝ่ายค้าน พรรคความหวังใหม่โดยพล.อ.ชวลิต สส. 57 คน และพรรคนำไทย โดย ดร.อำนวย วีรวรรณ สส. 18 คนเข้าร่วมรัฐบาล ผมอยู่ทีมงานดร.อำนวยเหมือนเดิมโดยรอบนี้หนักกว่า เพราะช่วยงานการเลือกตั้งของพรรคนำไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
รัฐบาลบรรหารทำงานลำบาก ส่วนหนึ่งเพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านยอดเยี่ยมที่สุดในสังคมการเมืองไทย ซึ่งก็มาถึงจุด Climax หลังจากเป็นรัฐบาลได้ปีกว่า มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการกล่าวหาโดยสส.คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ว่านายกบรรหารขาดคุณสมบัติ คือไม่ได้เกิดในประเทศไทย ตอนพูดในสภาอ้างโชว์เลยว่าหลักฐานอยู่ในกระเป๋าเสื้อของท่าน
ทีนี้มาถึงตอนที่จะลงคะแนน นายกบรรหารไม่ต้องการแพ้ Vote ไม่ไว้วางใจ จะเสียหน้า มีการเจรจากันระหว่างนายกบรรหาร รองนายก พล.อ.ชวลิต และดร.อำนวย ว่าให้ลาออกดีกว่ายุบสภา เพราะเป็นสส.กันได้แค่ปีกว่า กว่าจะได้เป็นก็ต้องหาเสียงอย่างหนัก หนักทุกอย่าง ถ้านายกสัญญาว่าจะลาออก จะลงคะแนนให้จะได้ไม่แพ้ Vote แล้วก็จะจัดครม.กันใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลยังเป็นพรรคร่วม สส.ไม่ตกงาน ไม่ต้องไปทำงานหนักเพื่อให้ได้เป็นสส.อีก
ก็เข้าใจว่าตกลงกันได้ ตอนลงคะแนนพรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย เทคะแนนให้เต็มร้อย Vote ผ่าน
แต่หลังจาก Vote ผ่าน ท่านบรรหารก็ประกาศยุบสภา สส.ตกงานกันหมด พวกเราที่พรรคนำไทย หนักมาก เพราะเพิ่งตั้งพรรคมาได้ไม่ถึงสองปี หลังจากนั้นพรรคนำไทยก็ต้องสลายตัวไป
ต่อมาเลือกตั้งปี 2539 พรรคความหวังใหม่ชนะได้จัดตั้งรัฐบาล ดร.อำนวยได้รับเชิญให้นำทีมเศรษฐกิจ เข้าร่วมรัฐบาล ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ ได้ทราบว่าระหว่างจัดตั้งรัฐบาล มีการติดต่อจากพรรคชาติไทยว่าจะเข้าร่วม แต่เหตุการณ์ยุบสภาก่อนหน้านั้น ทำให้มีผู้คัดค้าน พรรคชาติไทยจึงเป็นฝ่ายค้าน โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
แล้ววันนี้ เวลานี้ จะมีการยุบสภาหรือไม่? โดยมีพล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายก (และพล.อ.ประยุทธ์อาจกลับมาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว)
ถ้าวิเคราะห์จากเหตุที่รัฐบาลจะแพ้ Vote สำคัญในสภาไม่มี เพราะพรบ.งบประมาณผ่านแล้ว เมื่อ 23 ส.ค. มติไม่ไว้วางใจก็ผ่านแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจปีนี้ไม่มีแล้ว สว.อยู่ฝั่งรัฐบาล แปลว่านายกและครม.ไม่มีทางแพ้ในสภา จึงไม่มีเหตุที่จะยุบสภา
แต่ถ้าจะดูจากการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง นักการเมืองตอนนี้มีมาก ทั้งความถี่และขนาดของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เขาคงเดากันว่าคงอีกไม่นาน เพราะการหาเสียงที่จัดกันอยู่นี้ใช้ทรัพยากรมากมาย ค่าใช้จ่ายมาก จัดให้ชาวบ้านมาต้อนรับ มาฟังคำปราศรัย ต้องซื้อแม้แต่ดอกไม้ไปให้ชาวบ้าน ไว้มอบให้ VIP ของพรรค ซึ่งต้องเป็นกุหลาบแดงที่แพงที่สุด และดอกดาวเรืองสีเหลือง ยังไม่นับค่าอาหาร สถานที่ ค่าขนส่งคนและของ ค่าอาหาร ฯลฯ
ประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด คาดว่าคงไม่ยุบสภาในเร็วๆนี้ แต่อาจยุบสภาก่อนหมดวาระในเดือนมีนาคม 2566