จับตา “คนละครึ่ง เฟส 5” วงเงินลดจนกลายเป็น “คนละเสี้ยว”

เมื่อเวลา 6 โมงเช้า ของวันที่ 1 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ภาครัฐได้มีการเปิดระบบให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการ“คนละครึ่งในระยะที่ 5” สามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้เป็นวันแรก โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ในการจับจ่ายซื้อของผ่านแอปพลิเคชันได้เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

หากแต่ว่าในครั้งนี้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะได้รับวงเงินสนับสนุนในอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน150 บาทต่อคนต่อวัน และที่สำคัญคือ ไม่เกิน “800 บาทต่อคน”

ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการได้เหมือนกับครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารเครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป รวมถึงบริการต่างๆ เช่น นวด สปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ หรือสินค้า บริการที่กระทรวงการคลังกำหนด

เมื่อย้อนดูประวัติการเกิดของโครงการคนละครึ่งที่เริ่ม ประชาชนได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 โดยประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งในเฟสที่1 จะได้รับสิทธิ์ในการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยวงเงินรวมถึง 3,000 บาทต่อราย หรือสำหรับรอบเก็บตกก็ให้วงเงินสูงถึง 3,500 บาทต่อรายเลยทีเดียว จึงกลายมาเป็นประเด็นที่ว่าทำไมในรอบที่ 5 นี้ถึงมีวงเงินเหลือเพียงแค่ 800 บาทต่อคน

แต่หากนำเอาตัวเลขที่รัฐลงทุนไปกับโครงการคนละครึ่งในครั้งที่ผ่านมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ เฟสที่ 5 มีวงเงินที่ลดลงแล้วนั้นก็อาจจะเข้าใจได้ว่าภาครัฐใช้จ่ายไปกับโครงการนี้มากจนไม่สามารถให้เฟสที่ 5 ในวงเงินที่เท่ากับเฟสก่อนๆ ได้

และเฟสที่ 5 นี้ ก็อาจเป็นเฟสสุดท้ายของคนละครึ่งก็เป็นได้ โดยโครงการคนละครึ่งที่ใช้มาตั้งแต่ ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 เฟส ใช้วงเงินรวมไปถึง 234,500 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 5 เฟส ดังนี้

เฟสที่ 1) เดือน ต.ค. – ธ.ค. 2563 วงเงิน 30,000 ล้านบาท

เฟสที่ 2) เดือน ม.ค. – มี.ค. 2564 วงเงิน 22,500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 15 ล้านคน

เฟสที่ 3) เดือน พ.ย. – ธ.ค. 2564 อนุมัติวงเงิน 84,000 ล้านบาทอนุมัติเพิ่มวงเงินอีก 42,000 ล้านบาท รวม126,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 28 ล้านคน

เฟสที่ 4) เดือน ก.พ. – เม.ย. 2565 อนุมัติวงเงิน 34,800 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 29 ล้านคน

เฟสที่ 5) เดือน ก.ย. – ต.ค. 2565 อนุมัติวงเงิน 21,200 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 26.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์ของโครงการคนละครึ่งนั้นคือ โครงการที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายกับภาคประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ ในแง่นี้โครงการคนละครึ่งจึงถือว่าเป็นโครงการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”

และออกมากระตุ้นในช่วงภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งโดยปกติแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจ มักจะเป็นการกระตุ้นในระยะเวลาสั้นเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่น แต่การที่คนละครึ่งเดินทางมาจนถึงเฟส 5 ก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่าการกระตุ้นใน 4 ครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังได้

สุดท้ายนี้ โครงการคนละครึ่งในครั้งที่ 5 อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ ได้สูงเพราะปัจจัยในเรื่องของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีท่าทีคลี่คลายลงและดีขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการอัดฉีดเงินที่น้อยกว่าครั้งก่อนๆ อาจจะเป็นเพียงยาอ่อนๆ ที่ไม่สามารถรักษาพิษเศรษฐกิจที่ซบเซามานานให้ตื่นขึ้น จนอาจนำไปสู่เฟสที่ 6 ก็เป็นได้

#NewsXtra #คนละครึ่ง

ที่มา:

– กรุงเทพธุรกิจ (2565), “2 ปีรัฐอัด ‘คนละครึ่ง’ 5 เฟส 2.3 แสนล้าน หนุนกำลังซื้อ – พยุงเศรษฐกิจ”, https://www.bangkokbiznews.com/business/1017648

– workpointTODAY (2565), “สรุปวันแรกยอดใช้จ่าย ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ขณะที่ ‘คนละครึ่ง เฟส 5’ แค่ครึ่งวันสะพัดกว่า 200 ล้าน”, https://workpointtoday.com/half-spend-2/