“สร้างอนาคตไทย” กระทุ้ง “รัฐบาล” บริหารดูแลความเดือดร้อน ปชช. เปิด นโยบาย 4 โซลาร์ แก้วิกฤตค่าไฟฟ้าแพง สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทวงถามใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน
(22 ก.ย.65) ที่พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค และประธานนโยบาย และนายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าว “ชำแหละประเด็น ค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน”
โดยดร.อุตตม กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น สาเหตุทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนไทยทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐควรต้องดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว พร้อม จัดเตรียมมาตรการเพื่อให้ประเทศสามารถพลิกฟื้นได้ในช่วงเวลาต่อไป อย่างไรก็ตามมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการในระยะแรกอย่างเร่งด่วนนั้น กลับยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น กรณีราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันหลายเดือน กระทบกับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“นโยบายจะไปในทิศทางไหน รวมถึงมาตรการระยะสั้นจะดูแลอย่างไร นี่ถือเป็นโอกาสที่จะนำเรื่องพลังงานมาทบทวนกันใหม่ รื้อโครงสร้างใหม่ เพราะต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องทำอย่างจริงจัง เพราะพลังงานเกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนการผลิต การบริการ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และยึดโยง สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานสอดคล้องกันในช่วงวิกฤติเช่นนี้ หวังว่ายังไม่ช้าเกินไปที่เราทั้งภาคประชาชน และภาครัฐจะมาช่วยกันปรับเปลี่ยนดูแลให้ประเทศผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้” ดร.อุตตม กล่าว
ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคมีความจำเป็นต้องแถลงเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้สถานการณ์ค่าครองชีพ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ อีก 6-7 เดือนจะเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนจะลำบาก วันนี้ประชาชนแบกภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เรามีไฟฟ้าส่วนเกินเกือบครึ่งที่ประชาชนต้องแบกภาระบางส่วน และการเปลี่ยนผ่านสัมปทานการผลิตก๊าซที่ทำให้ปริมาณลดลงกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน
“ปัจจุบันกำลังการผลิตแก๊สในอ่าวไทยลดลงตามลำดับ ผมเคยส่งสัญญานเตือนแล้วว่าแก๊สในอ่าวไทยจะมีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาแก๊สที่สูงขึ้น เพราะการบริหารการเปลี่ยนผ่านที่ล้มเหลว ทำให้เราต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งแอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาสูงมาก” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้านอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากราคาแก๊สที่แพงขึ้นมา 33 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์แบบนี้จะยังไม่หยุดจนถึงมีนาคมปีหน้า ที่ประชาชนต้องมาแบกรับภาระจากนโยบายพลังงาน และการบริหารที่ผิดพลาด กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้น ใครได้ประโยชน์ ธุรกิจแอลเอ็นจีวันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนหรือรัฐ หรือค่าการกลั่นที่สูงมากและไม่ได้รับการแก้ไข พรรคเราเรียกร้องตลอดว่าเมื่อเกิดวิกฤติให้เอาต้นทุนจริงออกมาดู หากพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าไปบริหารเราจะเอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา คำถามคือวันนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ น้ำมัน แก๊ส ค่าไฟฟ้า เคยพิจารณาต้นทุนจริงหรือไม่ ภายใต้ต้นทุนที่แท้จริงมีอะไรทับซ้อนอยู่ วันนี้คือวิกฤต ในสมัยที่พวกตนบริหารกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด เรามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนทันที เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าทันที ซึ่งวันนี้ก็ยังคงเป็นแนวคิดการแก้ปัญหาที่พรรคสร้างอนาคตไทยพร้อมที่จะทำ
“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะมีส่วนเป็นเจ้าของพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy for all วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่ผมริเริ่มไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วันนี้ผมอยากถามว่าใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน และทำเพื่ออะไร ทั้งที่โรงไฟฟ้าชุมชนสามารถช่วยทั้งพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ได้รับการสานต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงเวลารื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ เราจะไม่ปล่อยให้ปตท.ทำงานแบบใช้โอกาสเกื้อกูล เติบโต และข่มเหงประชาชน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ส่งสัญญานมาแล้ว เตรียมรับมือการขึ้นราคา อยากถามว่ากระทรวงพาณิชย์ทำอะไรอยู่ ต้นทุนที่ขึ้นไปทุกอย่าง ทั้งราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ยังทำงานแบบเดิม ๆ หรือไม่ สุดท้าย ปัญหาทั้งหมด เราคงไม่เอาแต่วิพากษ์ และวิจารณ์ วันนี้พรรคสร้างอนาคตไทย ขอนำเสนอนโยบายด้านพลังงาน คือนโยบาย 4 โซล่าร์ ได้แก่ 1.โซล่าร์รูฟท็อป เพื่อสร้างรายได้ และลดรายจ่ายประชาชน 2.โซล่าร์ฟาร์มบนมิติโรงไฟฟ้าชุมชน กระจายทั่วประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน 3.โซล่าร์สูบน้ำบาดาลทั่วประเทศ และ 4. โซล่าร์ลอยน้ำ
ด้าน ดร.สันติ กล่าวถึงกรณี ปตท. ว่า แม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่กระทรวงการคลังยังถือหุ้นร้อยละ 51.11 ซึ่งหมายความว่าปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนทั้งประเทศคือผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยากให้ประชาชนได้ โดยปตท.ซึ่งถือหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่งครองสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ 80 จากโรงกลั่นน้ำมันที่มีในประเทศไทยทั้งหมด 6 แห่ง แต่ปตท.ก็ไม่ได้แสดงบทบาทดังกล่าว และหากพิจารณาจากกำไรของโรงกลั่นที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ พบว่าในปี 2564 มีกำไรรวมกันถึงกว่า 72,000 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกปี 2565 มีกำไรกว่า 43,000 ล้านบาท เท่ากับมีกำไรเกินกว่าครึ่งหนี่งของปี 2564 มาก
“อย่าบอกว่า ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วต้องทำกำไรสูงสุด เพราะความจริงกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหมายถึงประชาชนคือผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ปตท.เองก็กำหนดในยุทธศาสตร์ของบริษัทว่า จะต้องมีธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์ของสังคมทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน และประเทศ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลใช้กลไกการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ให้ปตท.หันมาดูแลช่วยเหลือประชาชนโดยอย่ามองแต่กำไรสุงสุด ต้องลดกำไรลงเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนด้วย” ดร.สันติ กล่าวย้ำ