“ปีนี้น้ำมาก” พูดทุกปีก็ “ท่วมทุกปี”: บทเรียนจากมหาอุทกภัย54 และแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

“ปีนี้น้ำมาก” พูดทุกปีก็ “ท่วมทุกปี”: บทเรียนจากมหาอุทกภัย54 และแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่หายไป

หากย้อนเวลากลับไปในปี 2554 เหตุการณ์ที่นับเป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ในช่วงนั้นคงหนีไม่พ้น “มหาอุทกภัย” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งนำความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชน เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารโลกระบุว่า ความเสียหายจากอุทกภัยปี 2554 มีมูลค่ากว่า 1.43 ล้านล้านบาท และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กับเงิน 1.5 ล้านล้านบาทในการฟื้นฟูความเสียหายทั้งหมด

ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลาย ก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐเริ่มมีการวางแผนการรับมืออย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำการเสนอแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วนที่รัฐระบุว่า จะต้องมีการแก้ปัญหาน้ำท่วม แบบบูรณาการ และเริ่มผลักดันอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การเสนอแผนบูรณาการน้ำอย่างยั่งยืน ที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท

เมื่อกลับไปดูแผนบูรณาการจัดการน้ำแล้วจะพบว่ามีหลักการบริหารจัดการน้ำ มีใจความสำคัญในการวางโครงสร้างการจัดการน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่การกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจน ระบุพื้นที่ต้นน้ำ (ภาคเหนือตอนบนของประเทศ) ทำหน้าที่ชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ ส่วนพื้นที่กลางน้ำมีหน้าที่ระบายน้ำ (ประตูระบายน้ำ ฯลฯ) และปลายน้ำคือช่วงตอนท้ายภาคกลางในการระบายน้ำลงสู่ทะเล นอกจากนี้ในแผนพัฒนาฯ ยังอัดฉีดเงินลงไปในเรื่องหลักๆ จนพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า “ถ้าทำวันนั้น น้ำไม่ท่วมแบบวันนี้” เช่นการฟื้นฟูเขื่อนหลักของประเทศ สร้างอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 1.6 แสนตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ปริมาณฝนตกลงมาในปี 2554 อยู่ที่ 50,000 มิลลิเมตร แต่ในปี 2565 ในตอนนี้ปริมาณฝน 33,000 มิลลิเมตร ลุ่มแม่น้ำทางภาคเหนือ-กลาง ระบายออกไปได้ 27,000 มิลลิเมตร หากรัฐบาลไม่เริ่มดำเนินการป้องกันและปริมาณน้ำมากเท่าปี 2554 จะทำให้ทั่วทั้งประเทศจมน้ำแน่นอน ตลอดจนการพัฒนาคลังข้อมูล เพื่อความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้กล่าวว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำแผนของพรรคเพื่อไทยไปดำเนินการ ทำทางระบายน้ำบริเวณบางบาล – บางไทร สามารถระบายน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 7 ปี แต่แผนของเพื่อไทยวางเอาไว้ว่าการก่อสร้างเพียง 3 ปี

ท้ายที่สุดนี้ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในช่วงปลายของรัฐบาลเพื่อไทย ก็นำไปสู่การยกเลิกแผนดังกล่าว และไม่ถูกพูดถึงอีกในภายหลังจากการเกิดรัฐประหารขึ้น แผนบูรณาการจัดการน้ำ อาจเป็นบทเรียนที่สังคมไทยตระหนักได้ และคาดหวังให้มีการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยง ที่หากปล่อยไว้ไม่ยอมแก้ไขหรือหาทางรับมือ มหาอุทกภัยปี54 ก็มีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้

ที่มา:

– สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (2565) “สทนช. ชี้การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลช่วยลดพื้นที่ท่วม-แล้งอย่างต่อเนื่อง”, http://www.onwr.go.th/?p=12450

– ประชาไท (2565) “’เพื่อไทย’ ย้อนถกแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ‘ปลอดประสพ’ ชี้รัฐประหารทำพัง จนน้ำท่วม ปชช.เดือดร้อน” , https://prachatai.com/journal/2022/09/100630

– ThaiPublica (2556) “โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน” , https://thaipublica.org/tag/โครงการน้ำ-3-5-แสนล้าน/