ภายหลัง บิ๊กตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมงานทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้ากับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งได้กรุยทางไว้มาหลายปีก่อน นำโดยคนสนิทอย่าง “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ “บิ๊กตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติคนปัจจุบัน
เรียกได้ว่าเป็นการอำลาพรรคพลังประชารัฐ อย่างเต็มตัวของ บิ๊กตู่ หลังเป็นนายกฯ ขาลอยมาเกือบ 4 ปี (พลเอกเปรมฯ โมเดล) และการตัดสินใจครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นจุดก้าวสำคัญของการเมืองไทยในปีนี้ หลังทหารการเมืองคนนี้ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว
และเมื่อเทียบดูพรรคทหารในทางการเมืองไทยแล้ว ประวัติศาสตร์จารึกไว้ไม่ค่อยสวยงามมากนักและจุดจบดูเหมือนจะเป็นของแสลงสำหรับทหารการเมือง วันนี้จึงนำผู้อ่านมาส่องดูพรรคทหารในการเมืองไทยของทหารเหล่านี้ ว่าจุดเริ่มและจุดจบเป็นอย่างไรกันบ้าง
พรรคแรก อย่างพรรคเสรีมนังคศิลา เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2494 และต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มอนุญาตให้มีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองในปี 2498 และมี “พรรคเสรีมนังคศิลา” เป็นพรรคการเมืองแรกที่จัดตั้งตามกฎหมายพรรคการเมืองในสมัยนั้น
เสรีมนังคสินา มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเลขาธิการพรรค และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นองคาพยพภายใต้คณะทหารที่ยึดอำนาจมานั่นเอง
ภายหลังการเลือกตั้งที่ขึ้นชื่อว่า สกปรกที่สุดในครั้งประวัติศาสตร์ เสรีมนังคสิลาคว้าจำนวนที่นั่งได้มากสุดในสภา เกิดการประท้วงของกลุ่มเยาวชนนักศึกษาต่อผลเลือกตั้งดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาแตกแยกภายในพรรคโดย ส.ส. นับสิบคนของพรรคลาออกเนื่องจากไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี
และประกาศตั้งพรรคใหม่ที่มีชื่อว่า “พรรคสหภูมิ” ภายใต้การสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รองหัวหน้าพรรค เสรีมนังคศิลา และต่อมาไม่นานรัฐบาลเสรีมนังคศิลา ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ มือไม้คนสำคัญทำรัฐประหาร
พรรคต่อมา คือพรรค พรรคสหภูมิ และพรรคชาติสังคม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุเกิดหลังการจัดตั้งพรรคสหภูมิ ที่สฤษดิ์ มองหมายให้ สุกิจ นิมมานเหมินท์ รวบรวมบรรดาส.ส. จำนวนกว่า 20 คน เข้ามาอยู่ในพรรคสหภูมิ ส่งผลให้รัฐบาล เสรีมนังคสิลาขาดเสถียรภาพ หลังการรัฐประหารและประกาศให้มีการเลือกตั้ง
พรรคสหภูมินี้เอง ที่เป็นพรรคที่เตรียมการมาเนิ่นนานของคณะรัฐประหารของนายทหารผู้นี้ และแน่นอนว่าผลการเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. จำนวน 44 คน จาก 160 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 29 คน และพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรคเดิม) ได้เพียง 4 คน ถือเป็นการปิดฉากของระบอบพิบูลสงครามอย่างเต็มตัว
ผลการเลือกตั้งที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของพรรคสหภูมิทำเกิดปัญหาในการบริหารประเทศ เกิดการต่อรองผลประโยชน์มากมายของนักการเมือง จอมพลสฤษดิ์ จึงตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิ และนำ ส.ส.จากพรรคสหภูมิและพรรคอื่นๆ เข้ามาอยู่ในพรรคใหม่ ชื่อ “ชาติสังคม” ซึ่งตั้งขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2500 โดยมีสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) และสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค
อย่างไรก็ดีแม้พรรคชาติสังคมจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ต่อมาไม่นาน พรรคชาติสังคมก็เผชิญกับการต่อรองผลประโยชน์อีกครั้งจนเกิดความขัดแย้งขึ้น จนรัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถควบคุม ส.ส. ในสภาได้ และนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พร้อมกับออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งหมดสิ้นสุดลง
พรรคที่สี่ พรรคสหประชาไทย ทางจำเป็นที่ไม่อาจเลือกได้ของจอมพลถนอม กิตติขจร แน่นอนว่าการรัฐประหารและการอยู่ในอำนาจของผู้นำมักมีข้ออ้างและพยายามยื้อเวลาเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจมากที่สุด บ่อยครั้งที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นข้ออ้างในการคืนประชาธิปไตย เพื่อถ่วงเวลาในอำนาจของตนมากที่สุด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันหลังจากที่การรัฐประหารในปี 2501 ทำให้การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนับสิบปี
จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2511 ประกาศใช้ และจำเป็นต้องมีการออก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน “พรรคสหประชาไทย” ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรค และมีพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค
แต่ชะตากรรมของนายทหารทั้งสองที่รัฐประหารไม่แตกต่างกันมากนักหลังการเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคสหประชาไทย คว้าเก้าอี้ไป 75 คน จาก 219 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 57 คน และมี ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคมากถึง 71 คน ทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งจอมพลถนอมเองไม่สามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้
มีการใช้อิทธิพลเรียกร้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งถ่วงการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาล รวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ของ ส.ส. ทั้งในพรรครัฐบาล จนนำไปสู่การแก้ปัญหาของจอมพลแบบทหารการเมือง คือการทำรัฐประหารตัวเองอีกครั้ง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และอยู่ยาวไปจนถึงก่อนเกิดวิกฤต 14 ตุลา
และพรรคที่ห้า อย่างพรรคสามัคคีธรรม ยุคพลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่จะสืบทอดอำนาจต่อผ่านการเลือกตั้ง โดยการจัดตั้ง “พรรคสามัคคีธรรม” และให้ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค หลังจากจัดตั้งพรรคได้ดึงและดูดอดีต ส.ส. และนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเข้ามายังพรรคหวังกอบโกยที่นั่งในสภาฯ
และผลการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้ ส.ส. จำนวน 79 คน จาก 360 คน เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับอีกห้าพรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี หลังณรงค์ หัวหน้าพรรคไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เนื่องจากต่างประเทศไม่รับรอง
จุดจบพรรคสามัคคีธรรมจบด้วยการประท้วงของกลุ่มประชาชน และนักศึกษาจำนวนมาก มีการแบ่งขั้วเป็นพรรคเทพ (กลุ่มพรรคฝั่งประชาธิปไตย) และพรรคมาร (กลุ่มพรรคในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา) จนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” และการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในเวลาต่อมา และปรากฏหลังจากนั้นว่ากลุ่มพรรคมาร ได้รับเสียงที่นั่งและความไว้วางใจน้อยมากในการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์นี
ล่าสุดหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ใต้ร่มเงาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 มีนาคม 2561 โดย “ชวน ชูจันทร์” ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม คนสนิทของ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ช่วงเริ่มต้นคณะรัฐประหารผู้อยู่เบื้องหลังพยายามหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ของการเป็น “พรรคทหาร” โดยการใช้พลเรือนออกหน้าเป็นผู้นำของพรรค และต่อมาภายหลังการลาออกของรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร ที่เข้ามาร่วมงานพรรค อย่าง อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พรรคก็ได้มีการดำเนินงานทางการเมืองโดยดึงและดูดอดีตส.ส. จำนวนมาก ประกอบกับการเกิดกลุ่มคู่ขนานอย่างสามมิตร นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อนุชา นาคาศัย เดินทางร่วมสายเทียบเชิญนักการเมืองให้เข้ามาร่วมงาน
ต่อมาภายหลังเกิดความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐและดูเหมือนว่าพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถสร้างที่มั่นให้กับประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มากนัก หลังเกิดเหตุการณ์กบฏล้มนายกฯ ในปี 2564 ทำให้เกิดพรรคใหม่ขึ้นเพื่อรองรับเส้นทางทางการเมือง
และนั่นคือพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่กำลังดึงและดูดบรรดาส.ส. และอดีตส.ส. เข้ามาร่วมงานอีกครั้ง ต้องรอดูต่อไปว่าจุดจบของพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ หรืออาจจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งจบสวยและอีกพรรคจบแย่ ต้องติดตามครับ