การต่อสู้อำนาจรัฐบนเรือนกาย ความเข้มงวด ตั้งแต่ เสื้อผ้า หน้า กาย รวมไปทรงผม ประเด็นเจ้าปัญหาที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่หลายแรมปีนั้น จุดเริ่มต้นจริงๆ คาดว่าวิวัฒน์มาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงสงครามนั้นเกิดเหาระบาด จึงนิยมตัดผมสั้นเกรียน แต่กระนั้นการเข้าไปยุ่งข้องเกี่ยวของรัฐต่อนักเรียนก็ยังมิปรากฏเห็นเด่นชัดมากเท่ากับยุคของเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชติ์
การเข้มงวดกวดขันกับเด็กและเยาวชนมีให้เห็นอย่างชัดเจนในยุคนี้ ความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ ของผู้นำเผด็จการท่านนี้ มีทั้งการเข้าไปขจัดความสกปรกเสื่อมโทรมของบ้านเมือง ถนน จนกระทั่งเรือนร่างของเยาวชน ที่ห้ามมิให้เยาวชนไว้ผมยาว นุ่งกางเกงรัดติ้วตามสมัยนิยม
ต่อมามีการออกกฎหมายเข้ามาควบคุมอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และเข้าครอบงำด้วยเผด็จการอำนาจนิยมตั้งแต่ปี 2514 ประกาศดังกล่าวได้ทำการยกเลิก พระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พุทธศักราช 2481 และออกกฎหมายใหม่ 2 ฉบับเจ้าปัญหา และใช้จนมาถึงปี 2555 จนกว่าที่จะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
กฎระเบียบว่าด้วยทรงผม มีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับ กฎกระทรวง (ศึกษาธิการ) ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) ที่ออกตามความในคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 ซึ่งกำหนดให้การไว้ผมยาวของนักเรียนชายและหญิง เป็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน
ทำให้นักเรียนชายจะต้องตัดผมเกรียนติดหนังศีรษะ ส่วนนักเรียนหญิงก็ต้องตัดผมสั้นเสมอติ่งหูของตนเอง หรือหากทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ต้องให้รวบผมให้เรียบร้อย
และในยุคของเกรียง กีรติกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการออกกฎกระทรวง (ศึกษาธิการ) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 มีการเปลี่ยนแปลงคือ แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 1 เรื่องทรงผมนักเรียนที่ไม่เหมาะสม
เป็นข้อความว่า “นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้าง และด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใด อนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”
แม้จะปิดฉากผมทรงเกรียน ผมติ่งหู แต่ดูเหมือนว่าโรงเรียนทุกโรงเองก็ยังพร้อมใจกันปฏิบัติตามกฎเดิม และยิ่งไปกว่านั้นกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของการป้ายเครื่องหมายนักเรียนดี มีวินัย ลงไปในเรื่องของทรงผมเช่นว่า
การเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมเริ่มเกิดขึ้นโดยขบวนการนักเรียน นำโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จุดประเด็นขึ้นในปี 2555 และได้รับการตอบรับ ก่อนจะกลายมาเป็นการรับข้อเสนอของรัฐบาลในขณะนั้น (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
โดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มีการออกหนังสือเวียนเพื่อเป็นการแจ้งและซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องทรงผมของนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ ให้ยึดกฎกระทรวง (ศึกษาธิการ) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) คือไม่ต้องตัดผมเกรียน สามารถไว้ผมรองทรงได้ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขเรื่องทรงผมนักเรียนหญิงให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อย่างไรก็ดีเรื่องทรงผมถูกกลบอีกครั้ง หลังมีการรัฐประหาร 2557 แทนที่ด้วยค่านิยม 12 ประการ เด็กจะต้องดี มีวินัย และปฏิบัติตามหลัก 12 ประการที่ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมคนใหม่ได้มอบไว้ให้ ซึ่งในนั้นไม่มีการวิวัฒน์เรื่องทรงผมต่อไปจากเดิมและกลายมาเป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม แก้ไม่เสร็จต่อไป
ขณะเดียวกันความพยายามอย่างเงียบๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การบริหารของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยออกเป็นระเบียบกระทรวงว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการการย้ำเตือนอีกครั้งตามกฎกระทรวงเมื่อปี 2518 ว่าไม่มีการบังคับเรื่องทรง “เกรียน-ติ่งหู”
หลังจากออกระเบียบนี้ได้ไม่นาน ในช่วงกลางปีเดียวกันก็มีประเด็น “แฮชแท็ก” ที่ร้อนแรงบนโลกทวิตเตอร์ หลังจากการแสดงความเห็นของวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ ในหัวข้อ ม็อบนักเรียน สะท้อนปัญหาระบบการศึกษา
โดยเขากล่าวว่า “สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม”
กลายเป็น #ทรงผมบังเพื่อน ในโลกทวิตเตอร์ในเวลาต่อมา รวมทั้งการทำรูปล้อเลียนเรื่องดังกล่าว ว่าเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องต่อเรื่องทรงผม และในปี 2565 เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อแบรนด์อย่าง Dove และ Mistine ชูประเด็นเรื่องรูปลักษณ์และการให้ความมั่นใจกับนักเรียน ปลดแอกจากกฎที่ละเมิดผ่าน #LetHerGrow ของ Dove และ #ฉายแสงทุกการเติบโต ของ Mistine ซึ่งทั้งสองมุ่งเน้นในประเด็นเรื่องทรงผมและความมั่นใจ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง จนมียอดวิวกว่า 10 ล้านครั้งโดยใช้เวลาไม่ถึงเดือน
การจุดกระแสในปีเดียวกันนำมาสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนในกลางปีภายใต้ชื่อ กลุ่มนักเรียนเลว โดยชูแคมเปญ รณรงค์ติด #เสรีทรงผม หน้าโรงเรียนดังทั่วกทม. ต้อนรับการเปิดเทอมแบบ On-site ในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งต้องการย้ำว่าตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนปิดยาว
และมีการเรียน Online การไว้ทรงผมของนักเรียน โดยเรียนอยู่ที่บ้านไม่ได้เป็นปัญหากระทบแต่ประการใด ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน ให้อิสระกับนักเรียนไทยในการไว้ผมทรงใดก็ได้ อีกครั้ง โดยมีการปฏิบัติตามและสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองออกมาโพสต์ถึง “ทรงผมนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง งานกิจการนักเรียน กลุ่มบริหารทั่วไป โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง” พร้อมภาพประกอบที่สัมผัสได้ถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ‘ทรงผมนักเรียน’
โดยสรุปใจความว่านักเรียนหญิงและชาย สามารถไว้ผมยาว “สั้น” หรือ “ยาว” ก็ได้ ถ้ายาวตาม “ความเหมาะสม” หลังจากนั้นก็มีการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ตั้งคำถามว่า “ความเหมาะสมของใคร” ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้เข้ามาตอบกลับว่า “ความเหมาะสมของนักเรียนที่เขาได้เลือกทรงผมให้เข้ากับหน้าตาเขาเองค่ะ”
กระแสดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามิได้เลือนรางหายไปตามกาลเวลา แต่พยายามทวงให้รัฐต้องแก้ไขอยู่เสมอๆ โดยต้นปี 2566 ลงวันที่ 16 มกราคม ภายใต้การบริหารของตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีการออกระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563
โดยสรุปคือนักเรียนสามารถไว้ทรงผมยาวหรือผมสั้นก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถานศึกษานั้นๆ ส่วนข้อปฏิบัติอื่นๆ อย่าง ห้ามดัดผม ห้ามย้อมสีผม และห้ามไว้หนวด เครา ยังคงเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากยึดความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพการเป็นนักเรียนมาเป็นหลักปฏิบัติ
ถือเป็นอีกครั้งที่กระทรวงออกระเบียบเรื่องทรงผม หลังจากพยายามออกกฎแก้ไขมามากมายแต่ซ้ำร้ายโรงเรียนก็ยังจะใช้แบบเดิม โดยมองไม่เห็นปัญหา การออกกฎครั้งนี้จึงเป็นการให้โรงเรียนออกข้อกำหนดเอง จะให้ไว้ยาวหรือสั้นก็ได้
และตอกย้ำว่า แท้จริงแล้วเรื่องทรงผม กระทรวงก็บังคับวัฒนธรรมอำนาจรัฐบนเรือนกายที่แพร่ขยายกลายเป็นประเพณี วัตรปฏิบัติของโรงเรียนไม่ได้เช่นเดียวกัน