เก้าอี้ ส.ส. ในกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ขยับขยายออกไปจาก 30 เขต เป็น 33 เขต เพิ่มจำนวนขึ้นแต่จะเพิ่มโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นได้เข้าแชร์เก้าอี้ในเมืองหลวงจากการเลือกตั้งที่จะถึงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดเดาได้ยากพอสมควร เพราะพื้นฐานของผู้เลือกตั้งในกทม. นั้นแล้วส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของ swing vote
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีเค้าลางอยู่เลยเมื่อเทียบดูสัดส่วนจากการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.แล้ว ก็จะพบว่าพรรคเพื่อไทยนั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง อาศัยทั้งกระแสพรรคและความนิยมของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะที่พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับสองในสภากทม. และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสูญพันธ์ในพื้นที่นี้เมื่อปี 2562 กลับมาครองเก้าอี้ในสภากทม. ได้ไป 9 ที่นั่งจาก 50 ที่นั่ง
เมื่อเลือกตั้งใหญ่มาถึงคะแนนตอนเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะแปรสภาพเป็นคะแนนในเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่ ย่อมต้องอาศัยขุนพล แม่ทัพนายกองของแต่ละพรรค
พรรคเพื่อไทยมี “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ซึ่งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ก.พรรคเพื่อไทยและนำพรรคคว้าชัยเก้าอี้ในสภากทม. ถึง 20 ที่นั่ง และการเลือกตั้งในปี 62 เคยรับผิดชอบรับผิดชอบการเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ในนามพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ถูกยุบเสียก่อนที่จะมีผลคะแนนออกมา
เลือกตั้งกทม.จึงเป็นเหมือนการชิมลางฝีมือในยกแรกที่ทำได้ดี และจะสถาปนาตัวเองเป็น เจ้าแม่เมืองหลวงคนใหม่ ของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป
ถัดมาที่พรรคก้าวไกลนั้น ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้นำทัพกทม. คงปรากฏแต่การทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้าพรรค “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล รองหัวพรรคดูแลภาคกลาง ในการลงพื้นที่ในกทม.แทบทุกครั้ง จึงอาจไม่ผิดที่ พิธาอาจลงนำทัพในพื้นที่กทม.ด้วยตนเอง เพราะเข้าใจสภาพ ลักษณะของคนกทม.อยู่ไม่น้อย
และผลงานที่ผ่านมาเองพรรคก้าวไกลก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ หรือก้าวไกล คะแนนที่ได้รับไม่ได้มาจากกรณีไทยรักษาชาติถูกยุบพรรคเมื่อปีที่แล้ว แต่ได้มาด้วยความนิยมในตัวพรรคและการทำงานในสภาฯ ดังที่คะแนนกทม.ในระดับส.ก. มาเป็นอันดับ 2 ในสภาฯ และคะแนนเลือกตั้งผู้ว่ากทม. “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” มาเป็นอันดับ 3 และห่างจากพรรคอันดับ 2 อยู่ไม่มาก
พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม ยังคงชู องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส. และส.ส.กทม. หลายสมัย รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา เรียกได้ว่า องอาจโชกโชนในพื้นที่นี้อยู่มากและเข้าใจความเป็นไป ผ่านประสบการณ์ตั้งแต่ความนิยมพรรคในพื้นที่ กทม.มีสูงมากจนถึงเกือบจะสูญพันธุ์ และผลงานล่าสุดที่อาศัยคะแนนพรรคและผู้สมัครบางส่วนกลับมาได้
แม้จะไม่เยอะแต่ก็สามารถต่อยอดจากผลครั้งดังกล่าวได้ต่อไป นอกจากนี้ยังมี “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ “มาดามเดียร์” วทันยา วงศ์โอภาสี เข้ามาช่วยงานในส่วนของกทม. แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมมากนักและจนถึงบัดนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เปิดตัวผู้สมัครส.ส.กทม. อย่างชัดเจน ไม่รู้เป็นกลยุทธ์หรือปัญหาระส่ำในพรรคกันแน่
พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ คว้าตัว “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เข้ามานำทัพในกทม. โดยพุทธิพงษ์ เป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะถูกถอดจากคดีกปปส. ในต้นเดือนปี 64 ซึ่งอดีตพุทธิพงษ์เป็นส.ส. ครั้งแรกในนามของพรรคประชาธิปัตย์
และเคยดูแลรับผิดชอบงานของพรรคในกทม. อยู่หลายครั้งนับแต่ผู้ว่าอภิรักษ์ จนกระทั่งมายังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย่อมมีประสบการณ์และกลยุทธ์ที่เจ้าตัวสั่งสมไว้และเจ้าตัวเองก็มั่นใจว่าภูมิใจไทยจะสามารถปักธงเมืองหลวงได้เป็นครั้งแรกจริงๆ ชนิดที่ว่าไม่ต้องไปดูดใครเขามา
พรรคพลังประชารัฐ คว้าขุนพลกปปส.เดิม อย่าง “จั๊ม” สกลธี ภัททิยกุล ร่วมกับ “อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เข้ามารับผิดชอบในการเลือกตั้งในกทม.ครั้งนี้ มีทั้งผู้สมัครหน้าใหม่และส.ส.เดิมที่มีฐานมวลชนพอสมควร โดยสกลธี เคยลาออกจากพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งแต่ก็พอมีฐานมวลชน และเข้าใจและรู้ปัญหาในพื้นที่ มาอย่างยาวนาน
พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ กปปส. เดิมเช่นเดียวกัน อย่าง “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ พร้อมด้วย ชัช เตาปูน และอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีฐานคะแนนเดิมในพื้นที่ ขณะเดียวกันชัช เตาปูนฐานคะแนนที่มีอยู่ในบางซื่อ เตาปูน ก็คงจะคว้าคะแนนบางส่วนนี้ไปได้ นอกจากนี้ยังมีฐานคะแนนกลุ่มเดิมกปปส. ที่เชียร์ลุงตู่ อาจมีอยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนครั้งที่แล้วก็จะช่วยหนุนอีกแรง
นอกจากนี้ยังมีพรรคอื่นๆ ที่สถาปนาตัวเองเป็นขั้วที่สาม อย่างพรรคไทยสร้างไทย ที่มีเจ้าแม่กทม.อย่าง “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีฐานเสียงจากความชื่นชอบในตัวกรณ์ จาติกวณิช หรือ อรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี ที่จะเข้ามาแบ่งคะแนนใน 33 เขตอีกครั้ง ต้องยอมรับว่ากทม. ครั้งหน้า คงมีอะไรให้น่าลุ้นพอสมควร