หากจะพูดถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ภาพจำที่หลายคนนึกถึงนอกจากมังกรสวรรค์ สุพรรณบุรี แล้วคงจะนึกถึง มังกรสุพรรณ อย่างบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่สร้างผลงานไว้อย่างมากมายให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกได้ว่าไปทางไหนก็มีแต่ชื่อของศิลปอาชา หอคอยบรรหาร แจ่มใส แม้กระทั่งโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์
การก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของบรรหารเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2519 ในการเลือกตั้งสมัยที่ 11 (4 เมษายน 2519) จังหวัดสุพรรณบุรี บรรหาร ศิลปอาชา สังกัดพรรคชาติไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกพร้อมกับ ประภัตร โพธสุธน ขณะที่ตระกูลการเมืองอย่าง ประเสริฐสุวรรณ นำโดยบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สามในการเลือกตั้งครั้งนี้
หลังจากนั้นในการเลือกตั้งสมัยที่ 12 (22 เมษายน 2522) และการเลือกตั้งครั้งที่ 13 (18 เมษายน 2526) การเลือกตั้งทั้งสองครั้งนี้เห็นได้จากการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มบ้านใหม่อย่างบรรหารยังไม่สามารถครองอำนาจนำในพื้นที่ได้ แม้การเลือกตั้งครั้งที่ 12 จะได้ทองหยด จิตตวีระ เข้ามาร่วมงานกับพรรคชาติไทย แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และเหลือพื้นที่ไว้ให้กับ จองชัย เที่ยงธรรม ในนามพรรคกิจสังคมซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยแรกในการเลือกตั้งครั้งที่ 13
การหาเสียงดุเดือดมากขึ้นเพราะอำนาจใหม่หวังจะขึ้นเข้ามาแทนที่ ทองหยด จิตตวีระ ส.ส. 6 สมัยติดต่อกัน จนมีสโลแกนติดปากว่า “อยู่กับทองหยด อดจนตาย อยู่กับบรรหาร ลูกหลานสบาย” ในช่วงหาเสียง
ความพยายามในการขึ้นสู่อำนาจเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2529 ที่กลุ่มชาติไทย นำโดยบรรหาร ศิลปอาชา สามารถวางพื้นที่ได้อย่างสำเร็จ ประกอบกับการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2538 ไม่นานนักสุพรรณบุรีก็กลายเป็นบรรหารบุรี ในไม่ช้า
ด้วยพัฒนาการของจังหวัดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ การสร้างถนน ระบบชลประทาน สถานศึกษาและไฟฟ้า รวมไปถึงการพัฒนาและยกระดับการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในจังหวัด
.
ความสำเร็จในโครงสร้างพื้นฐานทำให้พรรคชาติไทยและต่อมากลายเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ครอบครองพื้นที่นี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จและสมบูรณ์ โดยมี “ศิลปอาชา” เป็นศูนย์รวมจิตใจของตระกูลการเมืองที่แยกก๊กแยกเหล่าอย่าง โพธสุธน และเที่ยงธรรม ที่พร้อมจะผงาดฟัดเหวี่ยงกันทุกเมื่อ
อย่างการเลือกตั้งปี 62 ที่ผ่านมา เกิดเหตุบาดหมางทับรอยกันทั้งสองตระกูลนี้เมืองเขตของสุพรรณบุรีลดลงไป 1 เขต เหลือเพียง 4 เขต ทำให้ตระกูลมาตรศรี ซึ่งเข้ามาใหม่ทางการเมืองระดับชาติครั้งแรกในปี 54 แต่ก็ทำการเมืองมาอย่างต่อเนื่องในท้องถิ่นจนเป็นคนสนิทป๊าบรรหารอีกคน
.
เมื่อเขตลดลงการคุยให้นพดล มาตรศรีไปลงบัญชีรายชื่อจึงง่ายกว่าใคร การแบ่งพื้นที่ที่เป็นปัญหารอบที่แล้วจึงเกิดแก่โพธสุธน และเที่ยงธรรม โดยมีหัวเรือใหญ่อย่างประภัตร โพธสุธน (เฮียเม้ง) และจองชัย เที่ยงธรรม (“คิดอะไรไม่ออกบอกจองชัยเป็นผู้นำของทั้งสองตระกูลนี้
เหตุเกิดว่า ผู้แทนของ จ.สุพรรณบุรีถ้ามี 4 เขต เป็นที่รับรู้ว่าเขต 1 ตระกูลศิลปอาชา เขต 2 ตระกูลประเสริฐสุวรรณ เขต 3 ตระกูลโพธสุธน และเขต 4 ตระกูลเที่ยงธรรม แต่กระนั้นประภัตรกลับส่งคนในตระกูลเข้าลงชิงชัย คือยุทธนา โพธสุธน (หลานชายประภัตร) พรรคพลังประชารัฐ ในเขต 4 ของตระกูลเที่ยงธรรม แข่งกับ เสมอกัน เที่ยงธรรม (ลูกชายจองชัย)
แม้จะมีการเคลียร์ใจกันโดยกัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของบรรหาร ไปเจรจาขอร้องพรรคพลังประชารัฐ ให้ส่งลงบัญชีรายชื่อแทนแต่ก็ยังคงมาหาเสียงอยู่ต่อเนื่อง
ทำให้จองชัยตัดสินลงเขต 3 ด้วย พร้อมระบุว่า ผมท้วงติงแต่ก็ยังเฉยเมย ผมรอไม่ได้เพราะลูกผมมีคู่แข่งคือตระกูลโพธสุธน ผมจึงมาสมัครพรรคภูมิใจไทย และประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 3 เพราะ “ถ้าเขต 4 มีโพธสุธน เขต 3 ก็ต้องมีเที่ยงธรรม คู่ขนานกันไป” และให้ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าจะเอาตระกูลไหนไว้เพื่อตัดกำลังโพธสุธน ในเขต 3 ซึ่งเขตของลูกชายก็ต้องชนะเหมือนกัน
ความมั่นอกมั่นใจของจองชัยที่จะลงต่อสู้ในเขตอำเภอศรีประจันต์ (เขตของโพธสุธน) มาจากเดิมทีทั้งสองเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีประจันต์ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแค่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำท่าจีนและมีฐานะที่ร่ำรวยทั้งคู่ จองชัยอายุมากกว่าประภัตรแต่ประภัตรมีพรรษาทางการเมืองมากกว่า การห้ำหั่นในปี 62 จึงเป็นเรื่องศักดิ์ศรีลูกมังกร สไตล์ลูก “เติ้งเสี่ยวหาร”
และสุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดกลับไปยังคุณหญิงแจ่มใส ภรรยาของนายบรรหารออกมาเคลียร์ใจและขอให้นายจองชัย กลับพรรค ท้ายที่สุดด้วยบารมีของบ้านใหญ่ พลังอำนาจของป๊าและม๊า ทำให้จองชัยกลับพรรคในที่สุดและการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้จองชัยก็ประกาศแล้วว่า ตระกูลเที่ยงธรรมต้องได้ครองเขต 5
ทั้งนี้ ในทางการเมืองกงสีของเหล่าลูกของป๊า “เติ้งเสี่ยวหาร” แบ่งการจัดการกันโดย เขต 1 อำเภอเมือง ต้องยกให้ตระกูลศิลปอาชา ซึ่งส่ง สรชัด สุจิตต์ คนสนิทตระกูลเข้าดูแลพื้นที่
เขต 2 อำเภอบางปลาม้า ฐานที่มั่น ยกให้ตระกูลประเสริฐสุวรรณ ซึ่งครองพื้นที่มาตั้งแต่บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ปัจจุบัน ได้ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ครอบครอง
เขต 3 อำเภออู่ทอง ฐานที่มั่น ยกให้ตระกูลมาตรศรี คนสนิทของนายบรรหาร อดีตสมาชิกท้องถิ่นหลายสมัยเข้าดูแล โดยแบ่งอำเภอสองพี่น้องให้ตระกูลประเสริฐสุวรรณและตระกูลมาตรศรีรับผิดชอบ
เขต 4 อำเภอศรีประจันต์ ฐานที่มั่นของตระกูลโพธสุธน ดูแลในนามเฮียเม้ง ประภัตร โพธสุธน และพื้นที่โดยรอบอย่างอำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์
เขต 5 อำเภอด่านช้าง เดิมบางนางบวช เป็นฐานที่มั่นของตระกูลเที่ยงธรรม ดูแลในนามจองชัย เที่ยงธรรมโดยให้ลูกชายอย่างเสมอกัน เที่ยงธรรมรับบทผู้ดูแล
การเมืองในยุคทดสอบฝีมือ “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา ในยามที่พ่อบรรหารไม่อยู่นับเป็นเรื่องท้าทายเพราะเหล่าลูกชิด ลูกเชื้อ ที่เคยมีมาเริ่มจะขัดแย้งและตีตัวออกห่างได้ทุกเมื่อ จึงต้องรอดูว่าศิลปอาชายังคงคุมพื้นที่นี้ได้มากน้อยเพียงใดในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึง
ที่มา
- เจนจิรา แพนพันธุ์อ้วน (2564), การปรับตัวของพรรคชาติไทยพัฒนาหลังการสูญเสีย นายบรรหาร ศิลปอาชา กรณีศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี, วิทยานิพนธ์ระกับรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สถาบันพระปกเกล้า (2556), นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี