ในวันที่ประยุทธ์นั่งนายกฯ นานกว่าพล.อ.เปรม: ความเหมือนและความต่าง


จะมีสักกี่ครั้งที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาโตเป็นหนุ่มแต่ยังมีนายกฯ คนเดิม และอาจเป็นเรื่องเล่าต่อไปในอนาคตเสมือนยุค Y2K ในขณะนี้

เด็กยุคที่กล่าวถึง คงจะจำบทท่อนเพลง “โปรด จงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้เป็นอย่างดี ทว่าวันนี้ความบาดหมาง สัญญา เวลา นานพอหรือยังที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาแก้ไขปัญหาพร้อมโอกาสในการทำประเทศไทยต่ออีก 2 ปี

นับแต่สมัยแรกจากวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 นายกฯ ทหารที่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง ต่อด้วยสมัยที่ 2: 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน นายกฯ ทหารที่เป็นนักการเมือง รวมระยะเวลาตอนนี้ทั้งสิ้น 8 ปี 170 วัน แซงหน้าพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 8 ปี 154 วัน โดยระบุก่อนลงจากตำแหน่งว่า “ผมพอแล้ว”

ขณะที่นายกฯ “ลุงตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเริ่มต้นต่อในสมัยที่ 3 ประหนึ่งสาวแรกแย้ม ที่ยังไม่เคยสัมผัสการเมือง เพราะสมัยที่กำลังจะถึงในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ลุงตู่เข้ามาสัมผัสการเมืองแบบเต็มๆ เป็นนายกฯ ที่ไม่ใช่ขาลอย ไม่สังกัดพรรคเหมือนคราวปี 2562

แต่คราวนี้เข้ามาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมกระแสข่าวเตรียมลง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอันดับที่ 1 ทำเอาแฟนคลับ สาวก ชอบคอพอใจกันไปตามๆ กัน โดยครั้งแรกที่สาวแรกแย้มคนนี้ พูดในนามพรรคใหม่ อย่างพรรค รทสช. คือ

“ไม่ใช่ผมอยากเป็นใหญ่ ไม่ใช่ผมอยากมีอำนาจ อำนาจผมมีมาเยอะแล้ว มีมาทั้งชีวิตราชการ อำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ …ผมยืนยันผมไม่เคยรับผลประโยชน์ใครทั้งสิ้น แต่เพราะ นึกถึงพวกเรา ที่ผมมายืนตรงนี้ เพราะ ผมเคารพในกระบวนการประชาธิปไตย”

ความแตกต่างระหว่างนายกทหารม้า (พล.อ.เปรม) และทหารเสือ (พล.อ.ประยุทธ์) ในความเหมือนที่แตกต่างคือ การเข้าสู่อำนาจ และเหตุผลในการอยู่ในอำนาจต่อ แต่ที่ทั้งสองเหมือนกันคงไม่พ้นการเน้นย้ำตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งในเรื่อง “ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และ “การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

ทหารทั้งสองรายนี้มีลักษณะที่เหมือนกันอีกครั้งในสมัยนั่งขาลอยเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ ความพยายามใช้บริการเทคโนแครตเข้ามาบริหารทางการเมือง ซึ่งข้อนี้ดูเหมือนว่าพล.อ.เปรม จะทำได้ดีกว่ามาก

และอีกประการคือความพยายามในการรักษาระยะห่างกับนักการเมือง ในช่วงระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองนี้ โดยกุนซือที่พล.อ.เปรมใช้ในการคุยกับนักการเมือง คือ พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารที่ไว้ใจของพล.อ.เปรม

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้บริการพื้นที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในการเข้าหานักการเมือง จนทำให้กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ลุงตู่ต้องแยกทางตั้งพรรคใหม่ในทุกวันนี

ขุมข่ายทางการเมืองของพล.อ.เปรม จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ “ลูกป๋า” มากกว่า ซึ่งถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพราะคนที่พล.อ.เปรม วานใช้ให้ทำเรื่องการเมืองนั้นสถานะอยู่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่าที่จะเป็นพี่ใหญ่ ที่อาจต้องเกรงใจ ทำให้ถนนทุกสายทางการเมืองมุ่งสู่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อเสียมากกว่า และนั่นเองทำให้การวางใจ กลายเป็นหอกทิ่มแทงต่อมาในภายหลัง

เมื่อเกิดกบฏขึ้น ระหว่าง 31 ส.ค. – 3 ก.ย. 2564 เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลูกพรรคของตัวเอง มีความเคลื่อนไหวในขบวนการโหวตล้มนายกฯ ขณะเดียวกันร.อ.ธรรมนัส ก็ถูกมองว่าที่ทำไปครั้งนี้เพราะต้องการให้พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ แม้จะมีการปฏิเสธในเวลาต่อมา แต่นั่นทำให้การเมืองไทยไม่เหมือนเดิม เมื่อร.อ.ธรรมนัส และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ขณะที่พล.อ.เปรม เผชิญเหตุการณ์ “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเติร์ก” โดยนายทหารหนุ่มที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.) รุ่นที่ 7 ซึ่งพยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเปรม เมื่อ 1-3 เม.ย. 2524 นำโดยพล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร โดยครั้งนี้มีกำลังทหารเข้าร่วม 42 กองพัน แต่ไม่สำเร็จ

นอกจากนี้ยังมี เหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” หรือ “กบฏสองพี่น้อง” โดยนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง อาทิ พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร), น.ท.มนัส รูปขจร, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เสริม ณ นคร และ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ซึ่งทุกท่านที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นคนกันเองทั้งนั้น

ขณะที่เมื่อมาดูเรื่องเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารของพล.อ.เปรม ถูกยกย่องให้เป็นยุคก้าวใหม่ ของทิศทางประเทศ ถึงขนาดบอกว่าเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาล” เช่น จากเดิมที่เศรษฐกิจอิงอยู่กับภาคเกษตรกรรม ก็ย้ายไปวางอยู่บนฐานอุตสาหกรรมมากขึ้น

เปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วยแรงจูงใจทางนโยบาย ปรับนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยน จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นระบบตะกร้าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทยืดหยุ่นขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกฟื้นตัว เป็นต้น ซึ่งตอนนั้นมีมือคลังมหาสมบัติ ขุนพลเอก คือ สมหมาย ฮุนตระกูล

ขณะที่ยุคพล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นจุดอ่อนในด้านเศรษฐกิจ มีทั้งเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับพยายามต่อยอดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) โครงการประชานิยมต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันก็เอาโครงการที่ตนเองเคยต่อว่าอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคมาต่อยอด เสมือน ถ่มน้ำลายรดฟ้า

ความพยายามหลายปี แต่ดูทีท่าว่าการทำแบบเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ จะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะทุกๆ นโยบายถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทุนนิยมมีลำดับชั้น (Embedded Military-Hierarchical Capitalism)และนั้นทำให้ระยะห่างกับคนรวยและคนจนกำลังห่างขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตามภายใต้ขุนพลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนมาหลายยุคหลายท่าน ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนถึง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นโยบายที่โดนใจคือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเป็นนโยบายที่เยียวยาชั่วครู่แต่ไม่ยั้งยืนยงมากนักในการวางโครงสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายกรัฐมนตรี 2 แผ่นดิน กับประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน ความเหมือนและความต่าง และการนำพาประเทศไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ใครจะมีมากกว่ากันไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ วันนี้ ลุงตู่เลือกที่จะไปต่อกับประเทศไทย อีกครั้ง มาลุ้นกันว่าจะแซงจอมพลถนอม กิตติขจรได้หรือไม่


ที่มา :

  • บีบีซีไทย (2566) ,ประยุทธ์ : “ผมมายืนตรงนี้ เพราะผมเคารพในกระบวนการประชาธิปไตย”, https://www.bbc.com/thai/articles/cgrz1k6yg78o