พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการฯ มีมติ “ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต” ในพื้นที่ 17 จังหวัด และแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567 – 2570 โดยมีสาระดังนี้
1.แผนการดำเนินงาน/มาตรการเร่งด่วน
1) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤต หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง ระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น
2) ให้กระทรวงมหาดไทยกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ รวมถึงห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาในที่โล่งในช่วงนี้ และให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น
3) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้งดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้
4) ให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร พิจารณามาตรการในการจำกัดเวลา พื้นที่ และปริมาณสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง
5) ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
6) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง
7) ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดห้องปลอดฝุ่น แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงยารักษาโรค และเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งหน่วยบริการตรวจสุขภาพประชาชน และจัดบริการคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำ และดูแลด้านสุขภาพกับประชาชน
8) ให้ทุกหน่วยงานมีการสื่อสารผลการดำเนินงานของภาครัฐในการป้องกันแก้ไขปัญหา หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567 – 2570 มี 11 มาตรการดังนี้
1) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาการจัดสรรงบบูรณาการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
2) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อุดหนุนให้กับ อปท.
3) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดมาตรการจูงใจในการนำรถเก่าออกจากระบบ และมาตรการจำกัดปริมาณรถ และโรงงาน
4) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง
5) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ จัดทำแผนการ/มาตรการลดและจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนฯ รายพื้นที่
6) ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้มงวดมาตรการปลอดการเผาสำหรับพื้นที่เกษตร (zero burning) ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าว เช่น กำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการเพิ่มมูลค่าวัสดุชีวมวลทางการเกษตรโดยให้หน่วยงานจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการฯ
7) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าทางเกษตร ที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5
8) ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเพิ่มการรับซื้อชีวมวล เพื่อผลิตพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน
9) ให้กระทรวงการคลังมีมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจเกษตรกรปลอดการเผา เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรในภาคการเกษตร
10) ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันการศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชน ประชาชน ชุมชนในการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมในการจัดการปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง
11) ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดให้มีห้องปลอดฝุ่น หน่วยบริการตรวจสุขภาพ คลินิกมลพิษให้กับประชาชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง