ครั้งแรก หลังเลือกตั้ง ‘พิธา’ โชว์วิชั่น ความหวัง พาเศรษฐกิจไทย สู่อนาคต

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและทีมเศรษฐกิจ เข้าพบตัวแทนสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะทางนโยบายจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย

กิจกรรมภายในงาน เริ่มต้นด้วยตัวแทนนักธุรกิจจากสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นำเสนอปัญหาและข้อเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่นักธุรกิจเจอในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตร การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมภาคการผลิต ลิขสิทธิ์ ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ การคอร์รัปชัน นวัตกรรม และโอกาสในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศไทย

เมื่อตัวแทนนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นำเสนอจบแล้ว นายพิธากล่าวกับที่ประชุมว่า สิ่งแรกที่เราต้องแสดงให้เห็นก่อนคือไม่ทำงานเป็นแท่งๆ เป็นไซโล แต่ต้องมองภาพใหญ่ว่าการบริหารเศรษฐกิจที่เราต้องการคืออะไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลมองเห็นบทเรียนจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตมา 40 ปี คือในอนาคตต้องเป็นการเติบโตแบบ inclusive growth เศรษฐกิจโตด้วย และลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนเติบโตด้วย

นอกจากนี้ นายพิธายังย้ำถึงนโยบายในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยผ่าน 3F หนึ่งคือ Fair Game ความเท่าเทียมที่จะแข่งกันระหว่างทุนใหญ่กับทุนเล็ก ทุนไทยกับทุนต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่นผลิตภาพการผลิตภาคเกษตร ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ที่ดิน เมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองก็ไม่สามารถพัฒนาผลิตภาพการผลิตของตัวเองได้ ดังนั้น ต้องแก้ที่กระดุมเม็ดแรก มองให้เห็นโครงสร้างทั้งระบบ เช่นเดียวกับการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ปัญหาความล่าช้าเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ การรวมศูนย์อำนาจ ถ้าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจ จะทำให้ท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศระเบิดศักยภาพในการเติบโต สามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมหาศาล

สองคือ Firm ground หมายถึงต้องสู้กันด้วยผลิตภาพ (productivity) ไม่ใช่สู้กันด้วยการกดค่าแรง อยากทำความเข้าใจว่าค่าแรง 450 บาท ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เราคิดเอาเอง แต่เราเอาตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน ถ้าคิดตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปัจจุบัน ค่าแรงที่ควรจะเป็นคือเท่าไร ตัวเลขอยู่ที่ใกล้เคียงกับ 450 บาท ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้มีแค่นโยบายเพิ่มค่าแรงแต่มาพร้อมกับแพ็กเกจนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเอสเอ็มอี และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องอื่น ให้ไม่น้อยกว่าในสมัยที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท

สุดท้าย Fast growth industries ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และหาช่องว่างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยไปพร้อมกับโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาเพื่อต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมชิปและซิลิคอนคาไบด์ที่ประเทศไทยยังมีโอกาส

“ผมคิดว่าเรื่องการบริหารนวัตกรรม สรุปได้เป็นหนึ่งประโยคคือ ‘สร้างงานซ่อมประเทศ’ ที่เราจะเปลี่ยนจุดอ่อนของประเทศและปัญหาของประชาชน มาเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาของอนาคต เช่น กฎหมายรถเมล์อนาคต การทำน้ำประปาดื่มได้ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้ทั้งประเทศ คุณคิดว่าจะเป็นโอกาสสำหรับนวัตกรรมมากแค่ไหนของประเทศไทย” พิธากล่าว

สุดท้าย นายพิธากล่าวถึงอุตสาหกรรมโดรนและการป้องกันประเทศว่าถ้าประเทศไทยสามารถส่งเสริมนโยบาย offset policy ได้ แทนที่จะซื้ออาวุธจากต่างชาติ เปลี่ยนเป็นการซื้อพร้อมทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ใช้แรงงานและชิ้นส่วนในประเทศแทนที่จะนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์

หลังจากที่พิธาได้แสดงวิสัยทัศน์ สภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ได้มอบเสื้อที่มีสัญลักษณ์ Young FTI และโลโก้พรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต บรรยากาศการพบปะพูดคุยเป็นไปอย่างชื่นมื่น นักธุรกิจรุ่นใหม่ฝากความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับภาครัฐไว้กับทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ว่าจะทำให้กระบวนการทำงานรวดเร็ว เปิดกว้างการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ และทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน