เมืองไทยรายสัปดาห์หลังการเลือกตั้งเต็มไปด้วยคลื่นลม ฝน พัดกระหน่ำรายวันรายคืน สอดรับกับประกาศกรมอุตุฯ ในเวลานี้ระบุไทยจะเริ่มเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ 22 พ.ค. (วันเซ็น MOU พรรคร่วมฯ) หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา หน้าฝนทางการเมืองก็กระโชกโฮกฮากทันที กระแสคลื่น กระแสชล (น่าน) กระฟัดเฟียดต่อสถานการณ์การเมืองที่แหลมคม พร้อมที่จะเสียมารยาทกันทุกเมื่อ
การเมืองในเวลานี้จึงดูคล้ายกับต้องมนตร์อยู่ภายใต้กระแสชล (น่าน) บุคคลในหน้าข่าวที่เปิดวลี “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว” ขณะที่ศิธาคู่ชกออกหมัดสวนโต้กลับ แต่ดูเหมือนจะดีเลย์ไป 1 วันเล็กน้อย
มาวันนี้บทความนี้จะพาไปรู้จักชลน่าน คุณหมอของใครหลายๆ คน ว่าเขาผู้นี้มีประวัติที่มาอย่างไร
นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน 6 สมัย ติดต่อกันตั้งแต่ปี 44 ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บทบาทที่ผ่านมาที่ใครหลายคนยังไม่ลืม คือตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ หลังการเลือกตั้งปี 62 ที่อภิปรายโดยใช้ข้อมูลและวาทศิลป์ประกอบด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ครบ จนหลายๆ คนลืมคนชื่อ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ กันเลยทีเดียว
ก่อนหน้าจะเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมือง คุณหมอชลน่านผู้นี้มีชีวิตทางการเมืองและการแพทย์มาแต่ไหนแต่ไร ด้วยความชอบส่วนตัวในสมัย ปี 26 เขาได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จนปี 2538-2543 มาอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก่อนจะสไลด์ตัวเองสู่การเมืองในปี 2544 ปีของการเลือกตั้งของคนคิดใหม่ ทำใหม่ และในปีนั้นความคิดใหม่ของชลน่านก็พาเขาเข้าสู่การเมืองในฐานะสมาชิกพรรคไทยรักไทย ด้วยเหตุผลที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคใหม่ เสนอมุมที่น่าสนใจคือ ผู้นำซึ่งเราต้องยอมรับในภาวะวิกฤติที่ผ่านมาเพราะเราขาดคนที่เป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำจึงเป็นเรื่องเด่นในสมัยนั้น โดยเฉพาะผู้นำที่กล้าคิดกล้าตัดสินใจในเรื่องนำพาประเทศชาติ มุมที่สองก็คือ เรื่องของตัวนโยบายที่เขาพยายามทำให้เป็นรูปธรรมคือ สามารถทำให้กับพี่น้องประชาชนได้ มุมที่สาม กระบวนการในการจัดการ เป็นการเมืองที่ดี เหมือนกับว่าเป็นการเมืองที่ตรงใจเรา ก็เลยตัดสินใจมาเข้าไทยรักไทยประกอบกับตอนนั้นเรียกว่ายังใสซื่อทางการเมือง
เมื่ออีกพรรคยังกั๊กว่าจะส่งเราลงสมัครทำงานให้กับพรรคหรือไม่ ก็เลยไม่มั่นใจ แต่พอมาทำงานการเมืองจริงๆ เมื่อคิดย้อนไป ทุกพรรคการเมืองก็เป็นแบบนั้น คือต้องมีตัวเลือกที่ดีที่สุด กระบวนการตอนนั้นมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราต้องการความตรงไปตรงมา และความชัดเจน พอตัดสินใจเข้าทำงานให้ไทยรักไทย ก็เจอสภาพคล้ายๆ กันเพราะไทยรักไทยก็มีคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มามากกว่าที่รณรงค์ทำกันมาพักหนึ่งแล้ว”
คลื่นลมทางการเมืองและการรู้ทิศทางลมของเขา ทำให้ชลน่านใช้เวลาไม่นานนักในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของเขา (ปี 2548) ก็ได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นวิปรัฐบาลประสานงานสภาฯ
ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของเขา (ปี 2550) จากดาวเคราะห์ผู้ไม่มีแสงกลับค่อยๆ เรืองแสง และฉายแสงมาตามลำดับ ในปี 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ยกให้ชลน่านเป็นดาวเด่นประจำสภาฯ ด้วยบทบาทที่โดดเด่น โดยเฉพาะการอภิปรายในสภาฯ ที่ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ มาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นอภิปรายรัฐบาลด้วยการใช้วาทศิลป์เป็นสำคัญ
หลังจากนั้นไม่นานพรรษาทางการเมืองจากความใหม่ในปี 2544 จนล่วงเก้ามา 10 ปี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยความไว้วางใจ ประสบการณ์ และการทำงานในสภาฯ ที่สามารถคัดง้างกับฝ่ายค้านตัวพ่อ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เขาขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลาเดียวกัน
ในการเลือกตั้งปี 62 ชลน่านกลับมาอีกครั้ง และกลับมาเป็นดาวฤกษ์ให้กับพรรคเพื่อไทยในยามที่เก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ตัวจี๊ดๆ หลายคนที่จับตามองจับหูฟังไม่ได้เข้าสภาฯ ตามนัด โอกาสของชลน่านในการฉายแววให้เห็นในการอภิปราย และการยกข้อบังคับ รวมไปถึงการทักท้วง ตรวจสอบรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ทำได้ดีจนหลายคนเห็นแววปรับให้เป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยในคราวประชุมที่ขอนแก่น เมื่อปลายปี 2564
และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดแม้ตัวเขาจะเป็นหัวหน้าพรรคแต่ประสงค์ขอลงส.ส.เขต จ.น่าน เพื่อรักษาตำแหน่งที่มั่นของพรรคในพื้นที่ภาคเหนือ และสุดท้ายตามคาดชลน่าน ได้กลับเข้ามาสภาฯ พร้อมคะแนนความไว้วางใจจากชาวน่านเขต 2 ถึง 56,746 คะแนน
ในวันนี้ชลน่านมีชื่อขึ้นหิ้งเป็นเบอร์ต้นๆ ของพรรค การกำหนดทิศทางทางการเมืองบางประเด็นก็อยู่ภายใต้เขาอยู่ไม่น้อย การแสดงจุดยืน และทิศทางของพรรคของเขาในหลากหลายประเด็นต้องยอมรับว่าอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนในขณะนี้ และหวังว่าหลังเลือกตั้งสมัยที่ 6 ไม่ว่าจะในฐานะตำแหน่งใดๆ ก็ตามจะทำให้คุณหมอเป็นดาวฤกษ์ที่ไม่อับแสงไปตลอดกาล