วันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฎิบัติต่อผู้ถูกกักกัน เพื่อเอื้อต่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฎิบัติต่อผู้ถูกกักกัน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะการกักกัน ไม่ใช่การจำคุกนอกเรือนจำ ตามที่มีคนบางกลุ่มพยายามชี้นำให้สังคมเข้าใจผิด และพยายามเชื่อมโยงตน กับอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งในระเบียบก็ระบุชัดเจนว่า ผู้ถูกกักกัน คือ ผู้กระทำผิดติดนิสัย เกี่ยวกับคดีที่ศาลเคยลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จะต้องถูกควบคุมตัวไว้ภายในสถานที่กักกัน เพื่อป้องกันทำผิด และปรับนิสัย พร้อมฝึกหัดอาชีพ แต่หากผู้ถูกกักกันมีโทษจำคุก ก็ให้รับโทษจำคุกให้ครบก่อน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อดีตนายกฯทักษิณ ไม่ได้เข้าเงื่อนไขระเบียบใหม่นี้เลย จึงเป็นการบิดเบือน เพื่อให้สังคมเข้าใจตนผิด
“ระเบียบใหม่นี้ จะช่วยเฝ้าระวังกับคนที่ทำผิดซ้ำๆ อย่าง คดีฆ่าข่มขืน หรือ ฆาตกรต่อเนื่อง อย่าง นายสมคิด พุ่มพวง หรือ ไอซ์ หีบเหล็ก จึงต้องถูกกักกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย โดยขณะผมเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ช่วยผลักดันกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อเฝ้าระวังบุคคลอันตราย ที่ชอบก่อเหตุซ้ำๆ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ ก็กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับตามคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือ คำสั่งคุมขังฉุกเฉินตามที่ศาลกำหนด โดยให้นำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ด้วยเหตุนี้ จึงต้องออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของผู้ถูกกักกันและบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือคำสั่งคุมขังฉุกเฉินให้เกิดความเหมาะสมและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การออกระเบียบใหม่ จะเห็นได้ว่า เพื่อทำให้กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการจะช่วยผู้ต้องขัง หรือ ผู้ที่กำลังจะรับโทษ ให้ถูกกักกันสถานที่อื่นแทน ดังนั้น ตนขอให้คนบางกลุ่ม ที่พยายามบิดเบือนว่า การออกระเบียบราชทัณฑ์ฉบับใหม่ เพื่อรองรับอดีตนายกฯทักษิณ ไม่ต้องคิดคุกในเรือนจำนั้น เลิกสร้างความเข้าใจผิด หรือ ดึงเป็นเรื่องการเมือง ทั้งที่พี่น้องข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม พยายามสร้างกฎหมาย ออกระเบียบ เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ซึ่งตนมองว่า พฤติกรรมที่พยายามสร้างความขัดแย้ง ควรยุติลงได้แล้ว เพราะประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และกำลังจะเดินหน้าแล้ว ก็ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี