“อลงกรณ์” ฟันธง ”พิธา” รอด ผู้จัดการมรดก ไม่ใช่เจ้าของมรดก

วันที่ 12 มิ.ย.66 นายอลงกรณ์ พลบุตร แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์คดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า กรณีหุ้นไอทีวีจบในชั้น กกต.เรื่องง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน นายพิธาไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151 คดีนี้จะจบลงในชั้น กกต.ภายใน 45 วัน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”


ดังนั้นกฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 จึงบัญญัติมาตรา 151 ความว่า “..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …(ลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ)

กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือครองเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 หรือไม่

เรื่องนี้มีหลายมุมมอง แต่สำหรับผมมีความเห็นดังนี้

1.ประเด็นหุ้นไอทีวี ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือ หุ้นไอทีวี เป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก เป็นปมสำคัญที่สุด

2.การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวี ของนายพิธาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก

3.จากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่ายได้ความว่า นายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดกไม่ใช่ถือในนามส่วนตัวและในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้วซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี 2550

4.เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151

5.ดังนั้นประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวีจะปิดสำนวนในชั้นกกต.ภายใน 30 วันหรือ 45 วัน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การพิจารณาประเด็นหุ้นไอทีวี ต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง

“ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรมเมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตามแม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้า”