“คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ศูนย์กลางของตระกูลชินวัตร เคาะโต๊ะ ดึง “แพทองธาร” ลูกสาวสุดที่รัก-สุดหวงแหน ออกจากวงการเมือง และออกจากการทำดีลการเมืองทั้งบนดิน-ใต้ดิน
อ่าน-ตีความ เป้าหมายในใจของคุณหญิงพจมาน เป็นไปได้ว่ามีสองระดับ
หนึ่งคือทำให้เหลือเพียงชื่อเดียวบนโต๊ะเจรจาที่จะขึ้นเป็นนายกฯ นั่นคือ “เศรษฐา ทวีสิน”
สองคือการแสดงความประสงค์เป็นวงกว้างว่าตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ไม่ประสงค์จะยึดตำแหน่งนายกฯ ไว้กับตัว เปิดช่องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ทำทุกทาง-หลายทาง เพื่อเข้ามาร่วมดีล-ร่วมคิดอ่าน
ทั้งหมดนี้ เพราะเป้าหมายหนึ่งเดียวของตระกูลชินวัตรวันนี้คือ ส่งคำขออนุญาตกลับบ้าน
เมื่อดึง “แพทองธาร” ออกจากวงการเมืองแล้ว ปฏิบัติการต่อมา จึงเป็นปฏิบัติการดัน “เศรษฐา” เป็นนายกฯ ฉายภาพคนทำงานไม่แพ้พิธา โดยเฉพาะการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีศักยภาพและความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปากท้องของประเทศ
สัปดาห์ที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” ผู้ได้รับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย ร่วมประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ
โต๊ะวงประชุมวันนั้น คล้ายกับวงประชุม ครม.เศรษฐกิจ หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า
วงประชุมประกอบด้วย เศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี, นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการ, กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานกรรมการ, พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาฯ, ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาฯ, ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาฯ และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ
พรหมินทร์ คือมือทำงานของทักษิณในประเทศไทย ในการเลือกตั้งรอบนี้ ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทน 3 แคนดิเดตนายกฯ ขึ้นดีเบตทุกเวที-กิตติรัตน์ คือขุนพลเศรษฐกิจในรัฐบาลยิ่งลักษณ์-พันศักดิ์ คือมันสมองตลอดกาลของทักษิณ และพรรคการเมืองในเครือชินวัตร-ศุภวุฒิ และปานปรีย์ คือแคนดิเดตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจจากเพื่อไทย
วงประชุมที่รายล้อมด้วยชื่อ-ชั้น เช่นนี้ จึงเป็นสัญญาณไปต่อทางการเมืองของเพื่อไทย เป็นการไปต่อในระดับที่พร้อมเคลื่อนวงประชุมจากพรรคเพื่อไทยสู่ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมวันนั้นมีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายเรื่อง
ด้านการต่างประเทศ ได้พิจารณาการสร้างความเชื่อมั่นและบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลก การอำนวยความสะดวกด้านการศุลกากรแบบไร้รอยต่อ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี และการหาตลาดใหม่ในประเทศที่มีประชากรมากแต่ปริมาณการค้ากับไทยยังน้อย
ด้านภาวะหนี้และการเข้าถึงแหล่งทุน ได้หารือเน้นหนักถึงปัญหา 3 เรื่อง นั่นคือ 1. การขาดหลักประกันที่ตรงกับความต้องการของสถาบันการเงิน 2. การมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี และ 3. แนวทางประกอบธุรกิจไม่ตอบโจทย์
ด้านการเกษตร ได้หารือถึงนโยบายสำคัญของพรรค เช่น การใช้ตลาดนำการผลิต การเพิ่มผลิตภาพของภาคการเกษตร การขยายพื้นที่ชลประทาน และการปรับพื้นที่เพาะปลูกให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ด้านพลังงาน ได้หาทางแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนเรื่องราคาพลังงาน โดยการขยายเวลายกเว้นการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะกลาง-ยาว โดยยึดหลักความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ด้านการท่องเที่ยว ได้หารือเกี่ยวกับการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงผ่านวีซ่าแบบเดินทาง เข้า-ออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) การสร้างแรงจูงใจเพื่อเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวแบบพักพิงระยะยาว ผู้สูงอายุ และการดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชียใต้
แม้กระแส “พิธา” จะพุ่งสูงทั่วประเทศ ทว่ายังคงมีปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องคิดอ่านงานการเมืองอย่างลึกซึ้ง ดังปรากฏเป็นปฏิบัติการดัน “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นปฏิบัติการที่จะดำเนินไปอย่างเข้มข้น ก่อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี