เปิดยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
ยก “ประธานรัฐสภา” ให้ก้าวไกล
พรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ล้วนหมายตาที่เก้าอี้ “ประธานรัฐสภา” ประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ
เดิมที พรรคเพื่อไทยมองว่าตัวเองมีจำนวนเก้าอี้ห่างจากพรรคก้าวไกลไม่มาก จึงต่อรองเอาตำแหน่งประธานรัฐสภามาไว้ในมือ
ข้อเสนอจึงเป็นเมื่อพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไปแล้ว ก็ควรปล่อยตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” ให้พรรคเพื่อไทย
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อช่วงสุดสัปดาห์ว่า “จากเดิมที่คุยไว้จุดไหนก็ยังอยู่จุดนั้น เป็นเรื่องของพรรคแกนนำที่ต้องประสานงานกัน แต่การพูดคุยก่อนหน้านี้เราได้บอกวัตถุประสงค์และความคิดของแต่ละฝ่ายไปแล้วว่าคิดอย่างไร”
นัยยะของ “ภูมิธรรม” ก็คือย้ำข้อเสนอเดิมว่า ประธานรัฐสภาต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย
เพราะหากไม่ได้ตามที่เสนอ พรรคเพื่อไทยยังมีดาบสุดท้ายไว้ใช้งาน คือการเสนอชื่อประธานรัฐสภาคู่ขนานจากพรรคเพื่อไทย แล้วรวมเสียงโหวตจากขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม คว้าตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
ทว่า ในเวลาไม่กี่วัน ภูมิธรรมประกาศถึงหลักการของพรรคเพื่อไทยต่อการจัดสรรตำแหน่งประธานรัฐสภาแตกต่างไปจากเดิม
1.เห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภา
2.เนื่องจากพรรคอันดับ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น ตำแหน่งรองประธานสภาทั้ง 2 คนจึงควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2
ทว่าการเมืองไทยไม่เคยเดินเป็นเส้นตรง จึงต้องถามว่า คำประกาศเช่นนี้มียุทธศาสตร์ใดอยู่เบื้องหลัง
หนึ่ง คำประกาศของภูมิธรรม ย่อมไม่ใช่มติสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย เห็นจากที่ “อดิศร เพียงเกษ” ออกมาประกาศผ่านสื่อแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการเขย่าขวด เปลี่ยนเกมภายในพรรคอีกหลายยก
สอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือยุทธศาสตร์การมัดรวมกับพรรคก้าวไกลให้แน่นแฟ้น เพื่อการต่อรองทางการเมืองในอนาคต ทั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปจนถึง กระทรวงเกรดต่างๆ
สาม การตัดสินใจเช่นนี้ ยังผูกกับข้อมูลใหม่ๆ ทางการเมือง ซึ่งเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ
รับกับที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” ให้สัมภาษณ์ถึงคุณสมบัติของคนจะเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติว่า
“ส่วนตัวมองว่า คุณสมบัติบุคคลที่จะเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ ต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทควบคุมการประชุม โดยสมัยที่ นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ได้วางมาตรฐานการทำงานไว้สูง”
“ดังนั้น บุคคลที่จะเป็นประธานสภาฯ ต้องมีความเข้มงวดในระเบียบ ในกฎ และมีวุฒิภาวะ มีความรู้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพราะในการประชุมสภาฯ มีหลายสถานการณ์ที่เป็นการทดสอบ และท้าทายประธานสภาฯ อย่างมาก”
“นอกจากนี้ ต้องแม่นข้อกฎหมายและมีวิจารณญาณที่ดีว่าควรหรือไม่ควรที่จะเสนอร่างกฎหมายใด หรือร่างกฎหมายใดเป็นประยชน์หรือไม่ คนที่เป็นประธานสภาฯต้องเตรียมคำตอบดังกล่าวให้ดี”
อ่านเงื่อนไขทั้งหมดนี้อย่างละเอียด ย่อมไม่ใช่ ส.ส. จากพรรคที่ทำงานการเมืองได้เพียง 4 ปี ที่จะขึ้นเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ
และอ่านเงื่อนไขทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นข้อมูลใหม่ว่าหากพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนเกมการเมืองใหม่ในเร็ววันนี้ ย่อมได้รับแรงสนับสนุนจากในสภาฯ