เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยต้องคำพิพากษาศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย คดีขนยาเสพติดเข้าประเทศ
โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยคดี แต่ไม่มีคู่กรณี เสนอสำเนาคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย แม้ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีพิจารณาคดีระบบไต่สวน แต่คู่กรณี ก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องเสนอพยานหลักฐาน ประกอบคำร้องหรือคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในเบื้องต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพยานเอกสารทั้งหลายในสำนวนแล้ว ปรากฏว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเชาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 14 มี.ค. 2537 และสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มี.ค. 2568 นั้น แท้จริงเป็นเพียงสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ภายหลังจากพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี
เพราะหลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่งและอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน
ดังนั้น ทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการจะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2564/A/038/T_0033.PDF