ดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ รัฐบาล – แบงค์ชาติ คุยอะไรกัน?

ซัดกันคนละหมัด รัฐบาล- แบงค์ชาติ ดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ รัฐบาล – แบงค์ชาติ คุยอะไรกัน?

‘เศรษฐาคลัง เศรษฐพุฒิเงิน’ คนหนึ่งคุมนโยบายการคลัง คนหนึ่งคุมนโยบายการเงิน ยังเดินทางคู่ขนานต่อเนื่องในทิศทางการบริหารทางเศรษฐกิจของประเทศต่อคำว่า ‘วิกฤติ’ คำสำคัญที่มองต่างมุมกันจนเป็นปัญหาในวันนี้

แน่นอนว่า เรื่องดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ครั้งแรกของความเห็นไม่ตรงกันของรัฐบาลและแบงค์ชาติ ก่อนหน้านี้มีให้เห็นเป็นระยะๆ ต่อนโยบายเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ท’ จน 2 เศรษฐต้องไปเจอกันที่ทำเนียบรัฐบาล

ในส่วนประเด็นดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ที่พูดถึงนั้น

ชนวนเริ่มแรกมาจากทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรี 7 ม.ค. 67 ระบุว่า

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่า แบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

ต่อมา 10 ม.ค. 67 ‘สองเศรษฐ’ เจอกันอีกครั้งที่ทำเนียบ นายกฯ พูดถึงการพูดคุยเรื่องดอกเบี้ย
โดยยืนยันว่า

“ไม่ได้ไปสั่ง ผมอธิบายเหตุผลให้ฟัง ท่านก็อธิบายเหตุผล ในสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ในแง่สถานการณ์ต่างประเทศ สถานการณ์เงินเฟ้อทั้งหมด ซึ่งเงินเฟ้อติดลบให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงเองดีกว่า… ส่วนในการคุยครั้งนี้นายกฯ ย้ำว่า “ไม่มีคำว่าวิกฤต ไม่มีการตกลงว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต แต่เป็นการคุยเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า”

หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาล ออกมาโต้วิจารณ์ต่อเนื่องถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไป พร้อมทิ้งท้ายกลายๆ ว่า แบงค์ชาติเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจไม่โต
ท้ายที่สุด 15 ม.ค. 67 แบงค์ชาติ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงเปิดใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ โดยสื่อสารผ่านคำอธิบายของเกมฟุตบอล กีฬาโปรดของนายกฯ เศรษฐา และประธานที่ปรึกษา กิตติรัตน์ ณ ระนอง (อดีตขุนคลังในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์)

‘ปิติ ดิษยทัต’ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ระบุว่า การทำนโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลาส่งผ่าน เหมือนการเล่นฟุตบอลที่เวลาส่งลูก ก็ต้องส่งไปยังที่ผู้เล่นอีกคนกำลังวิ่งไป ไม่ใช่ส่งไปในจุดที่เขายืนอยู่ โดยเปรียบเทียบหน้าที่ของรัฐบาล และแบงค์ชาติ ว่า

‘การลดดอกเบี้ยแบบกระชาก เหมือนเอาผู้รักษาประตูไปอยู่ข้างหน้า ก็ช่วยโอกาสที่จะได้ประตูแต่ข้างหลังมันเสี่ยง มันเทหน้าตักไปนิดนึง หน้าที่ของธนาคารกลางคือเป็นผู้รักษาประตู ส่วนคลังเป็นโค้ช ส่วนรัฐบาลเป็นผู้จัดการที่จะสามารถเปลี่ยนโครสร้าง จะปรับผู้เล่นได้ค่อนข้าวกว้างกว่า ฉะนั้นจะเห็นชัดว่าเราก็มีหน้าที่ของเราทำได้ดีที่สุดแล้วถ้าจะให้ทำเกินไปกว่านั้นก็ต้องพิจารณาว่าได้แล้วจะคุ้มเสียหรือเปล่า’

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาทำถูกต้องแล้ว เราไม่ได้ขึ้นทีเดียวแต่ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น พิจารณาทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน และเงินเฟ้อ รวมทั้งระบุอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้มีสินค้าส่งออกที่ซับซ้อนขึ้น หรือการเพิ่มเสน่ห์การท่องเที่ยวของประเทศได้

วันเดียวกัน กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ ออกมามาโต้ถึงการเปิดใจของแบงค์ชาติว่า
‘เขา (แบงค์ชาติ) น่าจะเชิญผมไปร่วมแถลงด้วย จะได้อธิบายว่าเขาเข้าใจอะไรผิด ในขณะเดียวกันถ้าอยากจะมาแถลงร่วมกันกับผม ผมก็ยินดี ดังนั้น เราควรพูดจากันให้ชัดๆ และผมย้ำว่า ไม่ได้อยากจะทะเลาะอะไรกับเขา เพราะวันนี้วัตถุประสงค์คือ ผมไม่เห้นด้วยกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงเกินกว่าระดับความเสี่ยงและเกินกว่าศักยภาพของผู้กู้ ฉะนั้นจะไปอ้างเหตุผลดอกเบี้ยนานาชาติ อะไรก็แล้วแต่ ขอให้สำรวจตัวก่อน’

‘เราต้องดูความพร้อมด้วยว่าประเทศเรามีเงินทุนสำรองที่เพียงพอไหม ถ้าเราจะไปแก้เพราะกลัวเงินระยะสั้นไหลออกไป แก้ไปแก้มาเดี๋ยวเงินระยะยาวก็จะไหลไปด้วย เพราะคนที่เข้ามาลงทุนในประเทศเราในระยะยาว เขาอยากเห็นเศรษฐกิจที่ดี หวังว่าสิ่งที่ผมได้พูดในช่วงหลายๆ วัน มันจะไปเข้าหูคนที่บริหารนโยบายทางการเงินบ้าง แล้วท่านก็ไตร่ตรองละกันว่าสิ่งที่ผมพูดถึงหมายถึงอะไร’

คงต้องรอดูต่อไปกับศึกเกาเหลาของคลังและเงินที่หวังดีทั้งคู่ อีกฝ่ายอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกฝ่ายห่วงเสถียรภาพทางการเงิน ศึกครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนแบงค์ชาติออกมาตั้งโต๊ะแถลงเชิงตอบโต้ขณะเดียวกันตัวแทนรัฐบาลโดยกิตติรัตน์ ดีกรีดีขุนคลัง ที่เคยจ้องจะปลดผู้ว่าแบงค์ชาติ (ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ก็ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดเช่นเดียวกัน

สุดท้ายการลงเอยของศึกครั้งนี้ใครจะวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ คงต้องนิยามกันเอาเอง