ตอบสนองวิชั่น นายกฯ
DE โยนโจทย์แก้กฎหมาย
ไขก็อกสร้าง Capital Venture หมื่นล้าน ส่งเสริม Start Up&Unicorn
รมว.ดีอี รับลูกนายกฯ ปั้นไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล เติมทุน-แก้กฎหมาย จูงใจ Deep Tech ลงทุนในไทย พร้อมเผย มีการหารือร่าง พรบ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ เอื้อตั้งกองทุน และ Matching Fund สำหรับระดมทุนหนุนสตาร์ตอัพมากกว่าหมื่นล้านบาท ส่งเสริมบริษัทเทคสตาร์ตอัพไทยบุกต่างประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงวิสัยทัศน์ Thailand Vision ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งในเรื่องการตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing, การวิจัยและนำ AI มาใช้งานในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถของคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูงโดยใช้ความร่วมมือจากบริษัทเอกชนแถวหน้าของโลก
การดึงบริษัท Deep Tech ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตอนนี้มีการทำผ่านโมเดล Sandbox ซึ่งรัฐบาลจะมีเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพ รวมถึงปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการตั้งบริษัท การทำงาน การรับ – จ่ายเงินเดือน การถือครองทรัพย์สินต่างๆ เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
ทั้งจะมีการสนับสนุนให้บริษัทสามารถประกอบธุรกิจข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้จุดแข็งทางด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากจะร่วมงานกับบริษัทชั้นนำในระดับโลก ไม่ต้องย้ายไปอยู่ในต่างประเทศ และจะเป็นโอกาสให้คนไทยที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ Start Up สามารถสร้าง Unicorn ของตนเองต่อไป
อย่างไรก็ตาม การปั้นเทคฯ สตาร์ทอัพขึ้นมานั้น นอกจากเรื่องการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคแล้ว ยังมีเรื่องเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น ซึ่งปัจจุบัน ดีอีได้ให้สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นผู้จัดสรร
นายประเสริฐ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ที่งานแถลงบทบาทใหม่ เดินหน้าหนุนใช้ Big Data และ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ว่า
“การสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากภาครัฐ ปัจจุบันกระจัดกระจายไปหลายส่วน เฉพาะของกระทรวงดีอี โดย DEPA มีงบแค่ 500 ล้านบาท ที่ผ่านมานับว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้เกิดการออกไปแข่งขันนอกประเทศ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการจับคู่ หรือ Matching Fund ระหว่างสตาร์ทอัพกับธุรกิจเอกชน หรือหน่วยภาครัฐที่มีความต้องการสอดคล้องกัน เงินทุนส่วนใหญ่จึงมาจากเอกชน”
“ผมมองว่าถ้าจะสนับสนุนจริงจัง กองทุนต้องมีเงินมากขึ้น และต้องมีการระดมทุนให้สตาร์ทอัพในประเทศระดับหมื่นล้านบาท ที่รวมกับการ Matching กับเอกชน จะส่งผลสำคัญมาก ในเรื่องนี้รัฐบาล และกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องจะมีการพิจารณาข้อกฎหมาย หรือ พรบ. ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสตาร์ทอัพอยู่ เพราะการสนับสนุนสตาร์ทอัพมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน”
“อย่างการแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องภาษี เรื่องการรับ-จ่ายภาษี ก็เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง การให้ทุนสนับสนุนก็มีทั้งสำนักงานกรรมแห่งชาติ (NIA) และก็ยังมี DEPA ของกระทรวงดีอีด้วย ต้องดูว่าการส่งเสริมสตาร์ทอัพจะไปอยู่ในการดูแลของใครอย่างไร เมื่อเป็นการพิจารณาในระดับกรรมาธิการและมีการแก้ไขกฎหมายก็น่าจะใช้เวลานานพอสมควร”
เมื่อถามว่าหากมีการส่งเสริมสตาร์ตอัพ จะเน้นกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าอยากจะสนับสนุนสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ น่าจะดีและสอดคล้องกับนโยบายหลักรัฐบาล
สำหรับร่าง พรบ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ ถูกเสนอโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อปรับกลไกด้านข้อกฎหมายและกลไกด้านการเงิน ร่วมกับกองทุน Capital Venture ต่างๆ ให้เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากศักยภาพในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการระดมทุนรวมแล้ว 1.7หมื่นล้านบาท
เมื่อพิจารณาจาก บทบาทการให้ทุนสนับสนุน “เทคฯ สตาร์ทอัพ” ในหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามี 2 หน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมาก คือ NIA และ DEPA และยังมีหน่วยงานอื่นๆ บ้างประปราย จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ รมว. ประเสริฐ กล่าวว่า ต้องมีการรวมให้มีการดูแลใต้หน่วยงานเดียวเพื่อให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตามแผน 5 ปี ของ NIA เน้นส่งเสริม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.เกษตร อาหาร และสมุนไพร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า 4.ท่องเที่ยว และ 5.soft power ผ่านกลไกการดูแล (groom), การให้ทุน (grant) และผลักดันให้เติบโต (growth) สำหรับปี 2567 ได้รับงบประมาณสำหรับให้ทุนมา 600 ล้านบาท และคาดว่าระยะแรกจะใช้ 300 ล้านบาทสำหรับสร้างผลกระทบต่อมูลค่าระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
ในขณะที่ DEPA มุ่งเน้นการส่งเสริม Digital StartUp ในกรอบวงเงิน 500 ล้านบาท จากข้อมูลที่ระบุบนเว็บไซต์สำนักงานกองทุนของ DEPA ช่วยจัดตั้งบริษัท บ่มเพาะธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และขยายธุรกิจ จำนวน 165 ราย สร้างมูลค่าทางธุรกิจ (Valuation) ราว 15,000 ล้านบาท และยังสามารถขยายบริการออกไปต่างประเทศได้แล้ว 15 ราย
เมื่อพิจารณาจากรายชื่อ “เทคฯ สตาร์ทอัพ” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก DEPA จะเห็นว่ามีบางส่วนที่รับทุนจาก NIA ด้วย อย่างแพลตฟอร์ม QueQ (แอปพลิเคชัน ที่ช่วยจัดการระบบรอคิวของร้านค้า และบริการจากหน่วยงานต่างๆ) ที่รับทุนจากทั้งสองแหล่ง ก็สามารถให้บริการทั้งคนในประเทศ ต่างประเทศ และกับหน่วยงานรัฐอย่าง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดภูเก็ต กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า หากมีการรวบรวมแหล่งทุนของภาครัฐมาเป็นแหล่งเดียว ก็จะทำให้กลายเป็นกองทุน Capital Venture ขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจ และสามารถโฟกัสกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการ เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้ออกสู่ตลาดต่างประเทศและกลายเป็น “ยูนิคอร์น” ได้ดังที่นายกฯ หวังหรือไม่ และที่สำคัญการบริหารกองทุนเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้สังกัดของ “ใคร” ระหว่าง อว. และ ดีอี ?