ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี จะกล้าลงนามในหนังสือสั่งโยก 2 บิ๊กตำรวจให้มานั่งประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่นไม่มีงาน มีแต่ความอ้างว้างโดดเดี่ยว
บิ๊กโจ๊ก เคยได้สัมผัสมาแล้ว ในวันที่เพื่อนและลูกน้องนับไม่ครบนิ้วมือ บารมีและอำนาจที่เคยล้นพ้นตัว กลับอันตรธานหายไป
ขณะที่วันเดินกลับอย่างองอาจสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันข้างหน้า กลายเป็นเรื่องที่อาจยาวนานกว่าเวลา 60 วัน
หนังสือสั่งโยกย้ายของนายกรัฐมนตรี มีถ้อยความที่สำคัญหลายแห่ง ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“แม้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิบัติราชการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ”
“มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามควรที่ปรากฏถึงความขัดแย้ง จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชนทั่วไป แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งในทางการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม จนถึงขนาดมีการกล่าวหาต่อกันและกันในเรื่องส่วนตัว”
“แสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และความขัดแย้งส่อจะลุกลามบานปลายจนไม่อาจหาข้อยุติได้”
“ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
โดยต้องประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจและอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม”
“หากไม่กระทำการใดๆ อาจเป็นเหตุให้ราชการ ประชาชน และประเทศชาติ เสียหายได้”
“เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สมควรพิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
เพราะทั้ง 2 ชื่อ ล้วนเกี่ยวพันกับผู้คนและกลุ่มผลประโยชน์สำคัญในบ้านเมือง การตัดสินใจลงนามออกคำสั่งเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องขออนุญาต และแจ้งให้ทราบหลายชั้น
อัศวินชื่อ “เศรษฐา” ที่ควบม้าไปหย่าศึก จึงได้แต้มความเด็ดขาดไปเต็มเต็ม ในบริบทที่สังคมไทยชอบผู้นำลักษณะนี้