ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกทุกยุคสมัยล้วนมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนโหมไฟ ในทศวรรษนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันด้านเทคโนโลยีสื่อสาร-ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เด่นชัดขึ้นมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อเมริกาประกาศสงครามการค้ากับจีน
จนถึงปัจจุบันในรัฐบาลของโจ ไบเดน ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายกีดกันเทคโนโลยีผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ที่ลากเอาชาติพันธมิตรสหรัฐมาช่วยกีดกันจีน ส่งผลโดยตรงกับการพัฒนาชิปเอไอและเทคโนโลยีสื่อสารขั้นสูงจีน
แม้มองผ่านๆ จะเห็นว่า โลกตะวันตกจะก้าวหน้ากว่าจีนในแง่เทคโนโลยีเอไอ แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มก่อหวอดมานานและกำลังปะทุเป็นสงครามขัดแย้งใหม่ คือ “กรีนเทคโนโลยี” ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อลดคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ส่งผลถึงวิถีการผลิตของโลกทั้งซัพพลายเชน ซึ่งในเรื่องนี้ “จีน” ก้าวหน้าไปมาก และอาจนำไปสู่การกีดกันสินค้าทั้งซัพพลายเชนจากเงื่อนไข “สงครามสีเขียว”
การบรรยายของ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ที่เคยถูกเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ในงานเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook” บนเวที “PRACHACHAT BUSINESS FORUM ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” โดยสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ฉายภาพของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกปัจจุบันหลายแง่มุม
แง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งที่ “สุรเกียรติ์” ฉายภาพให้เห็น คือ หลังสงครามเย็นสงบลงในทศวรรษที่ 1990 หรือช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เกือบ 30 ปี นักวิเคราะห์หลายคนมองไม่เห็นว่าจะมีโอกาสที่ความขัดแย้งแบบดั้งเดิม หรือแบบ “ร้อน” ที่เป็นสงครามปะทะกันด้วยกำลังของประเทศใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นได้อีก จะมีก็แต่การปะทะประปรายและสงครามทางการค้า
“ถ้าเราย้อนไปหลายปีก่อนเราก็นึกไม่ถึงว่ารัสเซียจะใช้กำลังบุกโจมตียูเครนจริงๆ และหลายคนบอกว่าเรื่องอยู่อีกทวีปไกลตัว แต่ทันทีที่เกิดขึ้นราคาน้ำมันโลกก็พุ่งสูง ส่งผลกับเราอยู่ดี ไม่ใช่แค่น้ำมันแต่ค่าเงินระบบการชำระเงินและการค้าโลกก็ถูกกีดกันและมีความร่วมมือใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความต้องการคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย หรือการลดอำนาจค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ”
ยังไม่รวมความเป็นไปได้ที่จะเกิดความ “ร้อน” ในทะเลจีนใต้ ที่สงบมานาน แต่ตอนนี้เรือรบจีนและฟิลิปปินส์กำลังยิงปืนใหญ่กระสุนน้ำใส่กันอยู่ หากมีการซ้อมรบใหญ่ของจีนเหมือนคราวที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมาเยือนไต้หวัน จีนออกมาทำการซ้อมรบนานเป็นสัปดาห์ ส่งผลให้สายการบินของไทยต้องยกเลิกเที่ยวบิน
“ในทะเลจีนใต้จะยิ่งกระทบกับเราตรงๆ ในฐานะของประเทศในอาเซียนประชากร 600 ล้านคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในภูมิภาคนี้”
ดังนั้น ความขัดแย้งแบบดั้งเดิม และใช้กำลังก็ยังมีอยู่ และมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสงครามทางเศรษฐกิจและมีผลกระทบทั่วโลกเหมือนสงคราม “เย็น” ขณะเดียวกันการแข่งขันและกีดกันการพัฒนาเทคโนโลยีที่เราเห็นได้ชัดแล้วว่าฝั่งซ้ายของโลก และฝั่งขวากำลังแย่งชิงเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่ในด้านกรีนเทคโนโลยี ก็แข่งกันในอุตสาหกรรมอีวีว่าใครจะหาแรร์เอิร์ธ หรือธาตุหายากมาผลิตได้ดีกว่ากัน
แม้การผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงถูกครอบครองโดยประเทศในซีกโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเชื้อเพลิงประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ แต่เงื่อนไขใหม่ของโลกที่หันมามุ่งเน้นการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม กำลังทำให้จีนได้เปรียบอย่างมาก
“สันติธาร เสถียรไทย” นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในเวทีเดียวกันด้วยว่า เรื่องของกรีนเทคโนโลยี คือ เรื่องของอุตสาหกรรมและการผลิตทั้งซัพพลายเชน
“การแข่งขันด้านกรีน เป็นเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม เป็นการที่ใช้ยุทธศาสตร์กัน และที่เห็นชัดคือนโยบาย IRA (inflation reduction act) ของสหรัฐฯ เป็นกฎหมายที่สำคัญมาก เพราะสหรัฐฯ รู้ว่าตามจีนไม่ค่อยทัน เรื่องของพลังงานสะอาด ทั้งโซล่าและลม จีนนำไปเยอะมาก กฎหมายนี้เป็นการชดเชยการลงทุน ให้สิทธิพิเศษทางภาษีและเครดิตให้สารพัด ในช่วง 10 ปี ตีมูลค่าที่รัฐบาลให้เป็น ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อดึงการลงทุนในกรีนเทคโนโลยี ให้กลับมาที่อเมริกาให้มากที่สุด”
ในขณะที่อเมริกากับจีนแข่งกันด้านนวัตกรรม ยุโรปก็แข่งกำกับดูแล ยุโรปจะเป็นคนคิดค้นกฎกติกา แล้วเป็นแม่แบบให้คนอื่น อย่างกติกา CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามา
กล่าวคือ ถ้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานคาร์บอน จะส่งเข้าไปในตลาดยุโรปต้องโดนกำแพงภาษี ต่อไปมาตรการเช่นนี้จะใช้เป็นข้ออ้างให้กีดกันสินค้าได้ และประเทศอื่นๆ ก็ต้องทำตามก็อาจมีการตั้งมาตรฐานตน และจะนำไปสู่การอ้างกีดกันมาตรฐานของคนอื่นๆ ด้วย
“จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้ง Bitkub บริษัทเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่เริ่มจะเข้ามาจับทิศทางเรื่องกรีนเทคโนโลยี ก็ได้ขึ้นกล่าวในเวทีเดียวกัน โดยย้อนเล่าถึงการได้มีโอกาสเข้าร่วมเวที World Economic Forum ว่าหัวข้อหลักที่มีการพูดถึงของโลกที่แตกแยกเป็น ซ้าย-ขวา คือ การแข่งขันด้านคอมพิวเตอร์ชิปและเอไอ ส่วน บน-ล่าง คือเรื่องกรีนเทคโนโลยี ที่ไปกระจุกตัวอยู่ในซีกโลกเหนือ
“ที่ซีกโลกใต้ โดยเฉพาะภูมิภาคเรามีประชากร 1 ใน 3 ของโลกยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีกรีน แม้บริษัทยักษ์ใหญ่จะเริ่มปรับตัวเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเส้นเรื่องของโลกกำลังเปลี่ยน การนำเข้า ส่งออก การลงทุน มีกติกาใหม่จากเงื่อนไขการผลิต ต่อให้หัวเราเปลี่ยน แต่ SME ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเรายังไม่กระดิก ซัพพลายเชนทั้งหมดของเรายังไม่ปรับไปสู่การผลิตที่ลดคาร์บอนตรงนี้น่ากังวล”