องค์กรอิสระที่กำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ อาจต้องชายตามองผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์เสียนิด เพราะผลกระทบเป็นลูกโซ่ เป็นวงกว้าง
ไม่ใช่แค่บั่นทอนเงินในกระเป๋าของประชาชน แต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและหวาดผวาในระบบเศรษฐกิจ
อาชญากรรมไซเบอร์ สร้างความเสียหายแก่ประชาชนไทย เสียหายราววันละ 100 ล้านบาท หนึ่งปีก็ 3 หมื่นล้านบาท และเกิดข้อบกพร่อง ช่องโหว่ด้านโครงสร้างการเงิน และการตระหนักรู้ด้านภัยออนไลน์มหาศาล
จำนวนคดีไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอัตราการใช้งาน Mobile Banking
ในประเทศไทยเรียกได้ว่าครอบคลุมกว่า 80-90% ของบัญชีธนาคาร และบัญชีธนาคารก็ครอบคลุม 90% ของประชากร ด้วยความที่มันง่าย สำหรับคนทั่วไป มิจฉาชีพก็ยิ่งใช้งานง่าย
แน่นอนว่าภาระหน้าที่ในการดูแลคุ้มภัยของประชาชนและความมั่นคงของชาติคือ รัฐบาล ที่มีแขนขาเป็นตำรวจ โดยเฉพาะอาชญากรรมออนไลน์
คนที่มีหน้าที่ “ป้องกัน” ระบบคือ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” หรือ ดีอี และคนที่ “ปราบปราม” คือ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันแล้วว่าต้นทางในการสกัดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ คือ สกัดที่ “เงิน” ในระบบ จึงมีการตรา พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 เพื่อเร่งให้การดำเนินการกับการเข้าถึง “บัญชีม้า” ที่ใช้ก่ออาชญากรรมได้เร็วขึ้น ทั้งการสั่งอายัด หรือเข้าถึงบัญชีเพื่อขยายผลการสืบสวน
การสกัดปัญหาของ “บัญชีม้า” จึงมีอยู่สองส่วน คือ บัญชีธนาคาร และ ซิมการ์ด ที่ผูกโยงกับบัญชีธนาคารเพื่อใช้ Mobile Banking
แน่นอนว่าทั้ง “บัญชี” และ “ซิม” ไม่ได้อยู่ใต้กำกับดูแลโดยตรงของ “รัฐบาล”
ล่าสุด ต้องชื่นชม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ออกมาตรการคัดกรอง “ซิมผีบัญชีม้า” ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนผู้ถือครองซิม 6 เลขหมายขึ้นไป และล่าสุด คือ การร้องขอข้อมูลบัญชีธนาคารพาณิชย์ทั้ง 21 ธนาคาร เพื่อ “เช็กชื่อ” เจ้าของบัญชีว่าตรงกับเลขหมาย Mobile Banking หรือไม่ โดย กสทช. จะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบร่วมกับ “ผู้ประกอบการโทรคมนาคม” ซึ่งอยู่ภายใต้ “กำกับดูแล” ของตน
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า หากชื่อเจ้าของซิมที่ผูกบัญชีธนาคารเพื่อทำ Mobile Banking ไม่ตรงกัน ต้องไปปรับข้อมูล แจ้งใหม่เพื่อให้ใช้งานได้
“สุจริตชนที่ต้องใช้บัญชีเขาต้องปรับอยู่แล้ว เพราะบางทีเขาใช้งานจริงๆ อาจจะให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือใครไปเปิดให้ ก็ปรับข้อมูลให้ตรงกัน แต่พวกไม่ซื่อหรือเป็นซิมผีบัญชีม้าจะไม่อยากมายืนยันตน ก็ต้องลบไป ทำให้มิจฉาชีพก่อเหตุได้ยากขึ้น”
“การเปิดบัญชีธนาคารทั่วไปเราไม่ห่วงเพราะมีการเช็กอยู่แล้ว แต่ Mobile Banking เปิดได้ง่าย และต่อไปการเปิดบัญชีธนาคารใหม่ ก็อยากให้ธนาคารเช็กข้อมูลก่อนว่าเลขบัตรประชาชน ใบหน้า และอื่นๆ ตรงกับข้อมูลเลขหมายหรือไม่”
ไม่ว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร ก็สะท้อนให้เห็นว่า กสทช. ดำเนินการในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบกำกับดูแลเลขหมาย และ “ผู้ประกอบการโทรคมนาคม” อย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหา คือ กสทช. ไม่มีอำนาจไปยุ่มย่ามกับ “บัญชีธนาคาร” แต่ก็จะมีการทำแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลข้ามระหว่าง แบงก์พาณิชย์ ตำรวจ ปปง. และ กสทช. เพื่อให้การตรวจสอบการเปิดบัญชีม้า Mobile Banking ได้แบบเรียลไทม์
หากย้อนไปนับตั้งแต่ “รัฐบาลเศรษฐา 1” มา วาระการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เป็นข้อสั่งการนายกฯ ที่ส่งถึง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีดีอี และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งป้องกันและปราบปราม
เมื่อพฤศจิกายน 2567 กระทรวงดีอี ได้มีการงัด พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 มาบังคับใช้ทันที เพื่อเร่งระงับซิมผี-บัญชีม้า และพยายามออกข่าวกระทุ้งเรื่อง การขึ้นทะเบียนผู้ถือครองซิม มากกว่า 6 เลขหมายขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงนำไปก่ออาชญากรรม ทั้งยังงัด กม.ไซเบอร์ สั่งปิดซิมที่ “เข้าข่าย” ก่อเหตุหลอกลวง เช่น การโทรออกมากกว่า 100 สายต่อวัน ซึ่งจริงๆ เเล้วตนไม่มีอำนาจในการกระทำอย่างนั้น
แม้ “ประเสริฐ” จะยืนยันว่า ตาม พรก.อาชญากรรมไซเบอร์ ตนสั่งการได้ แต่ภาพรวมแล้ว สถานการณ์เป็นไปในทางการ “กระทุ้ง” ให้ กสทช. เร่งออกประกาศมากกว่า เพราะในขณะนั้น กสทช. เพิ่งจะทำ ร่างประกาศฯ มาตรการเพื่อให้ขึ้นทะเบียนผู้ถือครองซิมการ์ดเกิน 6 เลขหมายใหม่อยู่
เมื่อ 1 พฤษภาคม 2567 นายกฯ ได้สั่งการให้การปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ให้เห็นผลใน 30 วัน มีการเชิญตัวแทนหลายฝ่ายมาหารือ ที่เห็นได้ชัดในการปราบ “ซิมผี บัญชีม้า” คือ “ตัวแทนสมาคมธนาคาร”
ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 2 และ 3/2567 (9 และ 19 พฤษภาคม 2567) มีการหารือว่าจะต้อง “เอาผิด” ธนาคารที่ปล่อยปละให้มีการเปิดบัญชีม้าด้วย
ในที่ประชุมนั้น ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ “บางแห่ง” จะเริ่มเพิ่มเกณฑ์การเปิดบัญชีใหม่ โดยเฉพาะโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่ผู้เปิดบัญชีจะนำไปใช้ก่ออาชญากรรม
การเพิ่มหลักเกณฑ์ “เปิดบัญชีใหม่” เป็นสิ่งที่ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ และอาจจะบางแห่งด้วยซ้ำ เป็นผู้เสนอ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการเพิ่มจำนวนลูกค้าธนาคารเพราะเปิดบัญชียากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความตระหนักในการแก้ปัญหาบัญชีม้าด้วยการเพิ่มมาตรการเปิดบัญชีธนาคารเหล่านี้ ไม่ใช่การเสนอปรับ “ประกาศ” หรือ “กฎเกณฑ์” ของแบงก์ชาติ แต่เป็นการเสนอของ “ผู้ประกอบการ” ในการกำกับดูแลของ “แบงก์ชาติ”
อาจสรุปได้ว่า มติที่ออกจากที่ประชุมที่มี “รัฐบาล” เป็นแม่งาน เห็นว่าการเพิ่มมาตรการควบคุมการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย เช่น เพิ่มการตรวจสอบ CDD (Customer Due Diligence) เป็นการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า โดยมีกระบวนการประเมินและบริหารความเสี่ยง ก่อนอนุมัติเปิดบัญชีลูกค้า จากเดิม ที่มีการทำ KYC (Know Your Customer) ในการเปิดบัญชีใหม่
ขั้นตอนเหล่านี้จะเป็นการตัดตอน และบรรเทาปัญหาบัญชีม้าได้ แต่นั่นไม่ใช่อำนาจของที่ประชุมนี้ ที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์การเปิดบัญชีธนาคารให้เข้มงวดกวดขันขึ้นได้ แต่นั่นไม่ใช่อำนาจที่ประชุมนี้
หากหลักเกณฑ์การใช้ “ซิมการ์ด” หรือ เลขหมายโทรคมนาคม ขึ้นกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งมี กสทช. กำกับดูแลฉันใด
หลักเกณฑ์ “บัญชีธนาคาร” ก็ขึ้นกับ “ธนาคาร” ภายใต้กำกับดูแลของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ทั้งสิ้น
ปัญหาของ “ซิมผี” เราเห็น กสทช. ขยับมากวดขันแล้ว
ปัญหาของ “บัญชีม้า” เราได้เห็นอะไร?