- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดใจในกรรมกรข่าว คุยนอกจอ
- หลัง กทม.คานของรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน
- มองเป็นเรื่องดี ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนใจ
(30 พ.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสติกเกอร์ข้อความใหม่ที่ปิดบนแนวคานของรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน ว่า เมืองต้องมีการพัฒนาไป และเราเคารพผู้ออกแบบจึงไม่เปรียบเทียบว่าของเก่าหรือของใหม่สวยกว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ดี เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนใจในจุดนี้เลย ไม่มีใครเคยคิดถึงอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ การที่มีคนมาเห็น มาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าชอบหรือไม่ชอบจึงเป็นเรื่องที่ดี และคิดว่าเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ถือเป็นบรรยากาศที่ดีต้อนรับเทศกาล Pride Month ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีได้ในสังคม
“เชื่อว่าถ้าทุกคนชอบหมด 100% เป็นเรื่องแปลก การที่ไม่เห็นด้วยบ้างก็ดีแล้ว ซึ่งคานรถไฟฟ้าที่ต้องปรับปรุงยังมีอีกหลายจุดที่จะทำเพิ่ม ก็อาจมีการประกวดเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลายมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนในประเด็นงบ 3 ล้าน นายชัชชาติ ชี้แจงว่า เป็นการออกแบบ Corporate Identity หรือ CI ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มี CI ที่ชัดเจน จึงมีสีที่หลากหลาย รูปแบบที่หลากหลาย บางครั้งก็โยงกับตัวบุคคลมากไป แต่เราไม่อยากให้ยึดโยงกับตัวบุคคล อยากให้เป็นสัญลักษณ์ของกทม. ที่คนใช้ร่วมกันและพัฒนาต่อได้
หากถามว่า “ทำไมเมือง กทม. จำเป็นต้องมี CI นี้” นายชัชชาติ ตอบว่า เพราะทั่วโลกมีหมด องค์กรจึงจำเป็นที่ควรจะมี CI เพื่อทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเมือง เป็นบริษัท เพราะทำให้การจัดการต่าง ๆ มีความเป็นตัวตน อย่างเช่น เมื่อเราเห็นฟอนต์เสาชิงช้าที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ ก็จะรู้ว่าข้อความนี้คือข้อความของ กทม. แต่ก่อนการใช้สีของ กทม. มีหลายโทนมาก ในการทำเอกสาร อุปกรณ์ หรือนามบัตรต่าง ๆ สีก็ผิดเพี้ยนหมด จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีฟอนต์ของตัวเอง มีรูปลักษณ์ มีวิธีการใช้ ซึ่งในการดูแลเรื่องนี้ เนื่องจากตัวเราเองก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอและเราเองก็ไม่อยากเข้าไปนั่ง เพราะเราเองเป็นหัวหน้าหน่วยงาน หากเราให้ความเห็น กลายเป็นทุกคนต้องฟังเรา จึงมีคณะกรรมการ/คณะทำงานเป็นผู้พิจารณา ซึ่งมีทั้งเอกชนและคนที่มีความรู้ในการออกแบบ โดยมีการประมูลอย่างถูกต้อง ทุกอย่างมีกระบวนการที่ทำตามระเบียบโปร่งใส
สำหรับเรื่องคำขวัญ อาจมีคำหลาย ๆ คำที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเมืองที่ไม่เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องคิดแล้วว่าคำไหนที่จะเหมาะสมกว่าสำหรับในอีก 4 จุด ซึ่งอาจจะมีการจัดประกวดแบบในอนาคต
“อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีการถกเถียงกัน คนก็ได้รู้จักตรงนี้มากขึ้น ทุกคนสามารถเห็นต่างกันได้แต่ไม่ต้องเกลียดชังกัน กรณีที่เกิดขึ้นนี้เหมือนเป็นการต้อนรับ Pride Month ซึ่งจะมีการจัดขบวนพาเหรดจากจุดนี้ด้วย จึงเหมือนเป็นการสื่อสารถึงการมีความเห็นที่แตกต่างกัน ได้รับฟัง ได้ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกัน ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนสนใจมากขึ้น เข้าใจคำว่า CI มากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว