ประธานกสทช.ซัดรายงานคณะกรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา บิดเบือนทั้งกฎหมายและข้อเท็จจริง ส่อใช้อำนาจหน้าที่ไม่สุจริต ทำหนังสือด่วนถึงประธานวุฒิสภา เตือนอย่าหลงเชื่อ อาจก่อความเสียหายร้ายแรง ย้ำคุณสมบัติครบถ้วน แจกแจงทุกประเด็น ไม่ได้เป็นกรรมการเอกชนและมหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ทำหนังสือถึง ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2567 เพื่อขอให้พิจารณายับยั้งและตรวจสอบการใช้อำนาจของ ประธานกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล มีลักษะปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นศาล หรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปด้วยอคติและไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
“คณะกรรมาธิการฯ สรุปเอาเองโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ แล้วเสนอให้ประธานวุฒิสภา นำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะเป็นการนำความเท็จขึ้นกราบบังคมทูล อันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนมิอาจจะแก้ไขได้”
ประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการกสทช. และเคยพลาดหวังตำแหน่งรักษาการเลขาธิการกสทช. ได้ทำหนังสือขอให้วุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติ ประธานกสทช. ว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ ยังเคยได้รับการสนับสนุนโดย 4 กสทช. ซึ่งไม่ลงรอยในการบริหารกับ ศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ และต่อมามีการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค
กระทั่งคณะกรรมาธิการฯ ทำหนังสือ”รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบคุณสมบัติประธานกสทช.” ไปถึงประธานวุฒิสภา เมื่อ 4 มิถุนายน 2567 อ้างว่า คณะกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ มีลักษณะต้องห้ามจริง อาทิ การเป็นพนักงานรพ.รามาธิบดี และเป็นกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ
ประธานกสทช. ยืนยันว่า เมื่อพิจารณาข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 78 วรรคสอง (17) ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่คณะกรรมาธิการฯแล้ว ไม่ได้กำหนดเรื่องการตรวจสอบบุคคลหรือคุณสมบัติของบุคคลแต่ประการใด
“ดังนั้น การรับเรื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ จึงเป็นการจงใจขยายอำนาจหน้าที่ตนเอง และก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา”
ส่วนในประเด็นที่อ้างว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ยังคงประกอบวิชาชีพแพทย์ที่รพ.รามาธิบดีนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ไม่มีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของโรงพยาบาลรามาฯ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งกสทช. นอกจากนี้ ยังได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งและเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นที่มีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่กสทช.
ประธานกสทช. ยังชี้แจงกรณีที่รายงานของคณะกรรมาธิการฯ อ้างว่า ได้ยินยอมให้แต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ทั้งที่ความจริงคือได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งและไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพแต่อย่างใด แต่กรรมาธิการฯ จงใจที่จะบิดเบือนสรุปกล่าวหาว่ากระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 18 ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ซึ่งความจริงแล้วตำแหน่งกรรมการธนาคารก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องห้ามของกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น จึงเห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริต มีอคติ บิดเบือนเพื่อยัดเยียดความผิดให้ประธานกสทช.อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ยังมีข้อกล่าวหาช่วงที่ศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ สมัครเป็นกสทช. มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องรามาแชนแนล จึงมีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ก็เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน
ความจริงคือฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี อีกทั้งตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแบบบอกรับสมาชิก “ช่องรามาแชนแนล และมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ใช่นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นการจับแพะชนแกะโดยไม่สุจริตเพื่อกล่าวหาเท่านั้น”