ส่องกลยุทธ์ฟื้นประเทศ จาก ‘มิยาซาวา’ ถึง ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ของเศรษฐา
เมื่อชาติมีปัญหา กลยุทธ์เศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องใช้ หลากหลายปัญหาคลาคล่ำเข้ามาทั้งน้อยใหญ่ให้ต้องเผชิญและรับมือด้วยทรัพยากรประเทศที่พอจะมีให้ได้ ณ ขณะนั้น
หากพูดถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ‘มิยาซาวา’ คือ หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง เพราะถือเป็นโครงการสำคัญที่เข้ามาฟื้นเศรษฐกิจประเทศขนานใหญ่หลังประเทศเผชิญปัญหา
จุดเริ่มต้นของชื่อคุ้นหูที่ว่านี้มาจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ผู้นำทางการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รมว.คลัง ที่เข้ามารับช่วงต่อหลังรัฐบาลพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ระดมเทคโนแครต นักเรียนทุนรัฐบาล อาทิ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ) ดร.วิรไท สันติประภพ (อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ) เข้ามาเป็นทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรี ภายใต้ภารกิจใหญ่ ‘ช่วยชาติ’
ผลผลิตของทีมออกมาให้เห็นหลายต่อหลายโครงการ เช่น การเพิ่มทุนสถาบันการเงิน ตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในการจัดการหนี้เสีย เจรจาปรับลดเป้าหมายการดำเนินนโยบายการคลัง รวมทั้งกู้เงินมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
แต่หากจะนับโครงการที่จุดติด พาประเทศหลุดพ้นวิกฤตจากที่เคยติดลบ 10.1% ในปี 41 ไต่ระดับเป็นบวก 4.2 ในปี 42 คงเป็นโครงการภายใต้แผนเงินกู้มิยาซาวา 53,000 ล้านบาท ที่เข้าไปลงทุน สร้างงานกว่า 26,000 ล้านบาท คิดเป็น 49% ของเงินกู้ หนึ่งในโครงการที่โดดเด่น หนีไม่พ้น บัณฑิตอาสา ที่จ้างเด็กจบใหม่เข้าไปพัฒนาฐานข้อมูลของระบบราชการ จากกระดาษสู่คอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก
ต่อมาให้หลังไม่นานปี 52 เกิดวิกฤตมีชื่ออีกครั้ง เรียกกันว่า ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ เกิดการกู้เงินขนานใหญ่ภายใต้วงเงินกู้ภายในประเทศ 400,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณและการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมขุนคลังคนสำคัญอย่าง กรณ์ จาติกวณิช รับผิดชอบงานสำคัญเช่นว่า ภายใต้โครงการ ‘ไทยเข้มแข็ง’
ไฮไลท์ของโครงการเศรษฐกิจแบบแพ็คเกจ ไทยเข้มแข็งนี้ คือการกระจายเม็ดเงินไปยังเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานสร้างอาชีพระดับชุมชน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปรันรายได้ทางการเกษตร ส่งผลให้ฐานะทางการคลังดีขึ้นตามลำดับและเกินกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดันเศรษฐกิจปี 53 กลับมาเป็นบวก 7.8% จากที่เคยติดลบ 2.3% ในปีก่อนหน้า
10 ปีต่อมา เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ส่งผลให้รัฐบาลพลังประชารัฐของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การนำของนายอุตตม สาวนายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง คู่ขวัญ ต้องออกแพ็คเกจเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ผ่านการกู้ในและนอกประเทศ กว่า 1 ล้านล้านบาท
ประกอบด้วยแผนงานหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด แผนงานโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย และแผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในแผนงานคือการแจกเงินเยียวยาเกษตรรายละ 15,000 บาท และเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านชุดโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” “เราชนะ” “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “ม.33 เรารักกัน” เป็นต้น
ประสบความสำเร็จในแง่การเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนและประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความฝืดเคืองของเงินในระบบฯ ที่ออกมาเป็นระลอกๆ แต่น่าเสียดายที่ชุดโครงการดังกล่าวไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้มากนักเมื่อเทียบกับโครงการในอดีตที่ผ่านมา
คงเป็นเพียงแค่ยาบรรเทาอาการจากโรคเรื้อรัง ไม่ได้แก้โครงสร้างเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งไปแล้วกว่า 90% ของ GDP และแล้วอาการดังกล่าวก็ถูกส่งต่อมายังรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร เป็นหัวหอกด้านการคลังคนสำคัญ
นโยบายเรือธงอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท’ ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านแอปเป๋าตัง ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลที่หมายมั่นจะสร้าง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” ในปลายปีที่จะถึงนี้
หลากหลายข้อคิดเห็นท้วงติงถึงการกู้จำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ที่มาจากเงินงบประมาณและการกู้ภายในประเทศ รวมถึงวิธีการแจกเงินแบบหว่านแหเช่นนี้ว่า ไม่จำเป็นพอ แต่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันเดินหน้าต่อพร้อมอานิสงส์ที่ได้ทางอ้อมคือการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนต่อเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น ส่วยนโยบายดังกล่าวจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาตามเป้าหรือไม่ คงต้องรอติดตามปลายปีนี้