เสร็จสิ้นไปแล้วกับการเลือก “200 สว.” ชุดประวัติศาสตร์ เพราะต้องใช้วิธีเลือกกันเองใน 20 กลุ่มอาชีพ ก่อนจะมาไขว้กลุ่มเลือกข้ามกลุ่มอาชีพ ซึ่งในโลกใบนี้ไม่เคยมีประเทศไหนใช้วิธีดังกล่าว
ท่ามกลางข้อครหาซื้อโหวต-ล็อกโหวต ปรากฏเมื่อแยก “เฉดสี” พบว่า “สว.สายสีน้ำเงิน” เข้าวินมาเพียบ ต่างจาก “สว.สายสีแดง” แทรกตัวเข้ามาได้น้อยมาก เช่นเดียวกับ “สว.สายสีส้ม” คาดการณ์ว่ามีไม่ถึง 10 คน ทั้งที่วางเป้าเอาไว้ 67 คน เพื่อใช้ต่อรองเสียงโหวตในสภาสูง
ที่เซอร์ไพรส์สุด “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ สายตรง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ถูกวางตัวให้เป็น “ประธานวุฒิสภา” เสียด้วยซ้ำ แต่กลับตกรอบระดับประเทศ ได้เพียง 10 คะแนน ไม่ติดแม้แต่ชื่อสำรอง
ว่ากันว่า “บ้านใหญ่สีแดง” ไม่ได้มีการจัดตั้งที่เข้มข้น วางเกม “ช้อนซื้อ” โหวตระดับประเทศทีเดียว ไม่มีการจัดตั้งโหวตตั้งแต่รอบระดับอำเภอ ระดับจังหวัด แต่แผนซื้อโหวตไม่เป็นตามที่วางเกมกันเอาไว้ ส่งผลให้ “สว.สายสีแดง” เข้าวินมาน้อยมาก
แถมตัวเอกอย่าง “สมชาย” ต้องมาตกม้าตาย นับคราวๆ “สว.สายสีแดง” มีไม่ถึง 20 คน ทำให้แรงขับเคลื่อนในสภาสูงมีน้อย
ส่วน “สว.สายสีส้ม” มีการรณรงค์ผ่านองค์กรภาคประชาชน โดยส่ง “ไอลอว์” มาเป็นพี่เลี้ยง คอยอบรมผู้สมัคร สว. บางคนมีการวางตัว คัดตัว กันเอาไว้ ก่อนจะมานำเสนอตัวภายในกลุ่ม และแตกโหวตตอนไขว้กลุ่ม
ทว่าจุดอ่อนของ “สว.สายสีส้ม” เมื่อเข้าสู่ระดับประเทศ ต่างกันต่างมั่นใจว่าตัวเองเหมาะกับเก้าอี้ สว. จึงเปิดศึกรบกันเอง ไม่ยอมโหวตให้ “ตัวเต็ง” จากค่ายสีส้ม เกิดปัญหาจน “บิ๊กเนม” ต้องออกมาแก้เกม แต่บทสรุปไม่สามารถคุมเสียงโหวตได้
ส่งผลให้ “สว.สายสีส้ม” เข้าวินมาในระดับ 20 คน แรงขับเคลื่อนการเมืองผ่านสภาสูงแทบจะไม่มีผลสั่นสะเทือนมากนัก
ขณะเดียวกันศึกชิงสภาสูงรอบนี้ ถือเป็นความสำเร็จของ “บิ๊กเนมสีน้ำเงิน” สามารถเกณฑ์กำลังพลเข้ายึดสภาสูงเอาไว้เบ็ดเสร็จ “เบอร์หนึ่งบุรีรัมย์” วางแผน-วางเกม-วางคน ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ สร้างโหวตเตอร์ “มีเจ้าของ” ไม่ให้ใครมาซื้อง่ายๆ
ว่ากันว่า “สว.สายสีน้ำเงิน” มีมากกว่า 130 คน คิดเป็นกว่า 65 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้ “รีโมท” กดเสียงโหวต “สภาสูง” ก็จะอยู่ที่ “บุรีรัมย์”
โดยสังเกตได้จาก สว. 20 กลุ่ม มีตัวแทนจากจังหวัด “บุรีรัมย์, สุรินทร์, อุทัยธานี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, พิจิตร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, สตูล, บึงกาฬ) ที่เป็นฐานเสียงของ “พรรคสีน้ำเงิน” ฝังตัวอยู่จำนวนมาก
กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อาทิ พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค 4 อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประธานที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (สุราษฎร์ธานี), “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด (อ่างทอง), “มงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง (บุรีรัมย์), “อภิชาติ งามกมล” อดีตรองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด (บุรีรัมย์)
กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อาทิ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ (บุรีรัมย์), “สืบศักดิ์ แววแก้ว” เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2537 ก่อนมาเป็นกำนัน ต.จำลอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ระหว่างปี 2554-2565 (อ่างทอง), “พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (สุรินทร์)
กลุ่มการศึกษา อาทิ “วิวัฒน์ รุ้งแก้ว” อดีตข้าราชการครู และประธานชมรมมวยสากลสมัครเล่น จ.ศรีสะเกษ (ศรีสะเกษ), “สุเทพ สังข์วิเศษ” (อ่างทอง), “โสภณ ผาสุข” อดีตข้าราชการครูและนักวิจัยการศึกษา (ปราจีนบุรี), “สมทบ ถีระพันธ์” อดีตผู้บริหารสถานศึกษา (อำนาจเจริญ), “สามารถ รังสรรค์” อดีตรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 15 (สตูล), “กมล รอดคล้าย” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย (สงขลา)
กลุ่มการสาธารณสุข อาทิ “ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล” อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (บุรีรัมย์), “บุญชอบ สระสมทรัพย์” อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา (พระนครศรีอยุธยา), “ฤชุ แก้วลาย” สัตวแพทย์ (บุรีรัมย์), “วันชัย แข็งการเขตร” อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุทัยธานี (อุทัยธานี)
กลุ่มอาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุก อาทิ “ปวีณา สาระรัมย์” อาชีพทำนา (บุรีรัมย์), “พิมาย คงทัน” เกษตรกร (บึงกาฬ), “สาลี สิงห์คำ” เกษตรกร (สุรินทร์)
กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง อาทิ “นิสิทธิ์ ปนกลิ่น” เกษตรกร และกรรมการเกษตรระดับอำเภอตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน (พังงา), “จรุณ กลิ่นตลบ” เกษตรกร (อุทัยธานี), “มาเรีย เผ่าประทาน” อดีตผู้สมัคร สส. เขต 3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคภูมิใจไทย (ประจวบคีรีขันธ์)
กลุ่มพนักงาน หรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ อาทิ “ชินโชติ แสงสังข์” ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (พระนครศรีอยุธยา), “จตุพร เรียงเงิน” อาชีพวิ่งน้ำและรับจ้าง (บุรีรัมย์), “เข็มรัตน์ สุรเมธีมาณพ” พนักงานบริษัทด้านการขนส่งและชิปปิ้ง (พระนครศรีอยุธยา), “สมพร วรรณชาติ ชาติ” อดีตพนักงานปรีชาฟาร์มกรุ๊ป ปัจจุบันอาชีพทำนา (สุรินทร์)
กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค พลังงาน อาทิ “ไพบูลย์ ณะบุตรจอม” อดีตวิศวกรโยธา สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงเคยเป็นผู้ว่าจังหวัดพิจิตร (พิจิตร), “นิรัตน์ อยู่ภักดี” อดีต สว.จังหวัดชัยภูมิ และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด (ชัยภูมิ)
กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางขนาดย่อม อาทิ “วรรษมนต์ คุณแสน” ช่างเสริมสวยประสบการณ์มากกว่า 15 ปี (บุรีรัมย์), “เบ็ญจมาศ อภัยทอง” เจ้าของกิจการร้านเบ็ญจมาศอาหารสด และสตรีไทยดีเด่น จ.พิจิตร (พิจิตร), “นิพนธ์ เอกวานิช” อดีตประธาน บ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสาร Smart EV Bus ในภูเก็ต และอดีตผู้สมัคร สส.เขต 1 จ.ภูเก็ต พรรคภูมิใจไทย (ภูเก็ต), “สุมิตรา จารุกำเนิดกนก” เจ้าของกิจการร้านทองและโรงรับจำนำแห่งแรกของ จ.บึงกาฬ (บึงกาฬ), “สมศรี อุรามา” วิทยากรศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต.ละงู (สตูล), “เบ็ญจมาศ อภัยทอง” เจ้าของกิจการร้านเบ็ญจมาศอาหารสด และสตรีไทยดีเด่น จ.พิจิตร (พิจิตร)
กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 อาทิ “รุจิภาส มีกุศล” ผู้จัดการโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ (สุรินทร์), “สมพาน พละศักดิ์” ขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญมากว่า 12 ปี (อำนาจเจริญ), “นิทัศน์ อารีย์วงศ์สกุล” ผู้จัดการทั่วไป อ่างทอง เอฟซี (อ่างทอง)
กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อาทิ “สุวิทย์ ขาวดี” เจ้าของกิจการบริษัททัวร์ (สตูล), “พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” เจ้าของที่พักโฮมสเตย์อ่าวนาง (กระบี่)
กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม อาทิ “รจนา เพิ่มพูน” กรรมการบริษัทธุรกิจรีไซเคิล บจก. ไทยเอเชีย 14001 (พระนครศรีอยุธยา), “ธนชัย แซ่จึง” อาชีพรับเหมาก่อสร้าง ขายผลิตภัณฑ์ปูนสำเร็จและดูดทราย (ศรีสะเกษ)
กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม อาทิ “พรเพิ่ม ทองศรี” อดีตหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐบาลชุดปัจจุบัน และ เป็นพี่ชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย (บุรีรัมย์), “ขวัญชัย แสนหิรัณย์” สถาปนิกและผู้บริหารบริษัท เอ เค โฮม ไอเดีย จำกัด (อ่างทอง)
กลุ่มสตรี อาทิ “เจียระนัย ตั้งกีรติ” เจ้าของกิจการ (พระนครศรีอยุธยา), “จารุณี ฤกษ์ปราณี” ประธานสตรีอำเภอวังน้อย (พระนครศรีอยุธยา)
กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ อาทิ ”กฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ“ ข้าราชการบำนาญ กรมการปกครอง เป็นนายอำเภอในเขตภาคอีสาน (สุรินทร์), “กิตติพันธ์ อนันตกูลจิรโชติ” ข้าราชการครู (ศรีสะเกษ, “ประเทือง มนตรี” อดีตผู้สมัคร สส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พัทลุง), “นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล” อดีต สว.อยุธยา, อดีตกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (พระนครศรีอยุธยา)
กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรีการแสดง บันเทิง นักกีฬา อาทิ “สุวิช จำปานนท์” ข้าราชการบำนาญ กรรมการบริหารสมาคมกีฬา จ.อำนาจเจริญ (อำนาจเจริญ), “ปราณีต เกรัมย์” อาชีพรับจ้าง อดีตคนขับรถ “ชัย ชิดชอบ” (บุรีรัมย์)
กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ อาทิ “ประไม หอมเทียม” อาชีพเกษตรกรรม เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (บุรีรัมย์), “นิรุตติ สุทธินนท์” อาชีพนักธุรกิจ เคยเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตนายกสโมสรไลออนส์ระนอง (ระนอง), “ชาญชัย ไชยพิศ” ข้าราชการบำนาญ เคยเป็น ผอ.โรงเรียน ผู้แทนครู นายกสมาคมผู้บริหารครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดปี2564-2566 (บุรีรัมย์), “สายฝน กองแก้ว” พนักงานทำงานช่วยเหลือด้านการแพทย์ ประสบการณ์ปฏิบัติงานมูลนิธิกู้ภัยสำนักงานใหญ่หนองฉาง (อุทัยธานี)
กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม อาทิ “สุทนต์ กล้าการขาย” นักสื่อสารมวลชน ประสบการณ์เป็นนายกสมาคมสื่อช่อสะอาด กรรมการสรรหา ป.ป.ช.นนทบุรี (อุทัยธานี), “ศุภชัย กิตติภูติกุล” ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ (บุรีรัมย์), “สุพรรณ์ ศรชัย” อดีตผู้สื่อข่าว (สุรินทร์), คอดียะฮ์ ทรงงาม อาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ประสบการณ์เป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ อ.ไชโย (อ่างทอง), อารีย์ บรรจงธุระการ อาชีพพยาบาล ประสบการณ์ พิธีกรงานแต่งงาน งานเลี้ยงทั่วไป วิทยากรด้านแม่และเด็กของ จ.สตูล ตั้งแต่ 2547 (สตูล)
กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน อาทิ “กิติศักดิ์ หมื่นศรี” ผู้รับเหมาก่อสร้าง ถมดิน เคยเป็นรองประธานสภา อบจ.ปราจีนบุรี (ปราจีนบุรี), “สมชาย เล่งหลัก” อดีตผู้สมัคร สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย (สงขลา), “โชคชัย กิตติธเนศวร” ค้าขายวัตถุมงคล พระเครื่อง ทายาท วุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก พรรคภูมิใจไทย (นครนายก), “กิติศักดิ์ หมื่นศรี” ผู้รับเหมาก่อสร้าง ถมดิน เคยเป็นรองประธานสภา อบจ.ปราจีนบุรี (ปราจีนบุรี), “เอนก วีระพจนานันท์” รับเหมาก่อสร้าง ลงประวัติว่าเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างในหน่วยงานต่าง ๆ (พิจิตร)
กลุ่มอื่น ๆ อาทิ “อลงกต วรกี” ข้าราชการบำนาญกรมการปกครอง (อุทัยธานี), อดีตรองผู้ว่าฯ จ.อุทัยธานี (อุทัยธานี), “วลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒน์” ค้าขาย และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดีเด่น ระดับจังหวัด สาขานมแม่ สายใยรักแห่งครอบครัว ปี 2554 (บุรีรัมย์), พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ ข้าราชการบำนาญ (ตำรวจ) (สตูล), “ชูชีพ เอื้อการณ์” ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร (ปราจีนบุรี)
จะเห็นได้ว่า “สว.” ที่อาจจะมีส่วนเชื่อมกับ “พรรคสีน้ำเงิน” ฝังตัวอยู่ทุกกลุ่มอาชีพ และมีมากกว่าที่ยกตัวอย่าง
เหตุผลหลักของ “เบอร์หนึ่งบุรีรัมย์” ที่ต้องเดินเกมยึดสภาสูงเอาไว้ เพื่อนำมาเป็นฐานอำนาจต่อรองทางการเมือง เนื่องจาก “พรรคสีน้ำเงิน” เริ่มมีสถานะไม่มั่นคง เนื่องจากติดคดียุบพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
หาก “พรรคสีน้ำเงิน” ต้องโดนคำสั่งให้ยุบพรรค แรงต่อรองทางการเมืองของ “เบอร์หนึ่งบุรีรัมย์” จะหมดลงทันที ที่สำคัญอาจจะทำให้ “สส.สีน้ำเงิน” ซึ่งแตกกระส่านกันไป มีโอกาสย้ายกลับไปอยู่กับ “ค่ายสีแดง”
“เบอร์หนึ่งบุรีรัมย์” จึงลงทุน-ลงแรง เคลื่อนทุกสรรพกำลังเข้ายึด “สภาสูง” เอาไว้ได้สำเร็จ แรงต่อรองทางการเมืองกับ “นายใหญ่” กลับมาอยู่ที่เกมที่ต้องเกรงใจกัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีขุมกำลังของตัวเอง