เปิดแนวคิด “บอร์ด Ai แห่งชาติ”วางกรอบพัฒนา ดิจิทัลฮับ-คลาวด์-เอไอ ประเทศไทย

ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมรวมถึงอาชญากร ต่างมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีนี้ ทั้งการหาประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ หรือการหาทางป้องกันภัยทางสังคม

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะมีกรอบยุทธศาสตร์เอไอ 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน

  1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเอไอ ประกอบด้วยการลงทุนโครงสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ กลางภาครัฐ และผลักดันให้หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์สาธารณะได้ ผ่านนโยบาย Go Cloud First Policy
  2. การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยี ด้วยการทำ Open Data เปิดข้อมูลภาครัฐให้เชื่อมถึงกันรายสาขา เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว สุขภาพ การให้บริการภาครัฐ และการเงิน

การส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ของไทยผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ ของกระทรวงดีอี ผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีวงเงิน 500 ล้านบาท

  1. การพัฒนากำลังคนด้าน AI ทำโดยตรงผ่านดึงคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาด้วยวีซ่า เช่น Global Digital Talent Visa/Long Term Residence Visa
  2. การเร่งรัดการใช้งานเอไอ ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมเรื่องมาตรการสินเชื่อ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
  3. ความเชื่อมั่นและความปลอดภัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวง สร้างความน่าเชื่อถือและโปร่งใส มีการตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลเอไอ ทำให้ AI Application มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์เหล่านี้มี 3 กลุ่มคือ Hardware โครงสร้างพื้นฐาน, Peopleware คือคน และ Software หรือระบบนิเวศ โครงสร้างชั้นที่สองที่จะนำเอไอไปใช้งาน

ในเรื่อง Hardware จะเห็นภาพการโหมโปรโมตเรื่องการดึง “บิ๊กเทค” มาลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ทั้ง Microsoft, Google หรือ AWS ทั้งมีการเพิ่มกรอบวงเงินให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เพิ่มขนาดคลาวด์กลางภาครัฐ

แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเร็วมาก หน่วยประมวลผลของคลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับเอไอพัฒนาความสามารถ 10-100 เท่าทุก 6 เดือน และราคาก็สูงขึ้นเช่นกัน

คำถามคือ “ช้า” เกินไปหรือไม่สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ แน่นอนว่าในมุมภาครัฐไม่ช้า เพราะเขามีเวลาแค่ 3 ปีกว่าในอายุรัฐบาล แต่สำหรับเอกชนแล้ว พื้นที่ในการเติบโตและคืนทุนนั้นกินเวลายาวนานนับสิบปี

หลายประเทศที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีการกำหนดกรอบเวลาพัฒนามามากกว่า 30 ปี

ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ที่เริ่มจากการปฏิรูปการศึกษา และการโหมลงทุนวิจัยเทคโนโลยีอย่างจริงจังตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนมีอุตสาหกรรมเทคฯ ขนาดใหญ่รองรับการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ระดับสูงได้ หรือไต้หวันมหาอำนาจชิป วางรากฐานองค์ความรู้ด้านฮาร์ดแวร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970-1980 เช่นกัน

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีไทย ล้วนเป็นผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายของบิ๊กเทคต่างชาติทั้งสิ้น

ด้านกำลังคน หากจำกันได้เมื่อราว 4-5 ปีก่อน รัฐ-เอกชน ล้วนสนับสนุนทักษะด้านบิ๊กดาต้า แม้ง่ายต่อการอัพสกิลมาทำงานด้านเอไอ แต่ก็ทำให้เห็นว่าช่วง 4-5 ปี คนเหล่านี้ต้องเปลี่ยนสกิลใหม่อีกครั้ง

แม้จะมีการดึงคนเก่งจากภายนอกมาสอนงาน แต่ไม่กี่ปีก็ต้องสอนกันใหม่ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว จะต้องนำเข้าคนมาเรื่อยๆ ละหรือ?

ขณะที่ในด้านการตระหนักรู้และทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทยนั้น ยังน่ากังวลเสี่ยงต่อภัยคุกคามแบบใหม่

ด้านที่สาม คือ ซอฟต์แวร์ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ทั้งสร้างเอง หรือการนำเข้าแบบ Subscription ที่สำคัญคือ “การบำรุงรักษาระบบ” ต้องพึ่งพาเงินที่ผูกพันหลายปี และต้องยืดหยุ่นมากพร้อมเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

เพราะในขณะที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งอยากใช้คลาวด์สาธารณะ (คลาวด์ของเอกชน เช่น SWA, Microsoft azure หรือ Google Cloud) มาหลายปี แต่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับคลาวด์สาธารณะยังไม่สะเด็ดน้ำดี

และยังสื่อสารกับข้าราชการไม่ได้ ยังไม่รวมถึงสกิลและ Mindset ในการใช้ซอฟต์แวร์บนคลาวด์ของข้าราชการที่ยังยึดติดกับงานสารบรรณเอกสารกระดาษ ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคด้านกำลังพลภาครัฐที่มีมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ

เมื่อกลับไปดูเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลกในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมาล้วนใช้เวลา กล่าวคือ ทุกสิ่งไม่ได้เปลี่ยนฉับพลัน และไม่สามารถบังคับให้เปลี่ยนฉับพลันได้ เช่น เมื่อครั้งคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นในช่วงปี 1940 ใช้เวลากว่า 40 ปีในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 1980-1990 ช่วงเป็นยุค Personal Computer หรือในยุคที่ Blockchain เกิดขึ้นหลายคนก็บอกว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนโลก แต่ทุกวันนี้ก็เงียบหายและเซื่องซึม

เทคโนโลยีเหล่านี้มีวัฏจักร คือ Winter ที่ทุกอย่างหยุดพัฒนา และ Summer ที่มีคนคลั่งไคล้อย่างที่เห็นทุกวันนี้ และเรายังไม่รู้ว่า AI Summer นี้เป็น “ของจริง” หรือการทดสอบผู้ที่พร้อมจะแข่งขัน

ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่านโยบายเอไอยังมีเวลาไม่ต้องรีบ ต้องวางกรอบยุทธศาสตร์และแผนอย่างรัดกุม

ดังนั้นท้ายที่สุดจะอยู่ที่ผู้กำหนดกรอบของรากฐานเทคโนโลยีนี้ ซึ่ง “รัฐมนตรีประเสริฐ” กล่าวว่า “บอร์ดเอไอแห่งชาติ” กำลังอยู่ในช่วงเลือกสรร คาดว่าจะได้เห็นกลางปี 2567

บอร์ดชุดนี้จะประกอบด้วยบอร์ดฝั่งดีอี มีหน้าที่ด้านคุ้มครองพัฒนาระบบและนำไปการพัฒนาเศรษฐกิจ และบอร์ดฝั่ง อว. มีหน้าที่ด้านการวางกรอบวิจัยและพัฒนาบ่มเพาะกำลังคน ทั้งสองฝั่งนี้หากวางเป้าระยะสั้นกลางยาวไว้ก็น่าจะ “ครบเครื่อง” ทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และพีเพิลแวร์

แต่กรอบแผนของ “บอร์ดเอไอ” จะต้องสะเด็ดน้ำ และชี้ทิศทางและที่ยืนของไทยในยุคเอไอให้ได้ชัดเจน