กสทช. เปิดไอเดีย “Net Neutrality” หรือ “ความเป็นกลางทางเน็ต” มิติใหม่ของการกำกับดูแลโทรคมนาคม
แนวโน้มการตลาดของแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต จากค่ายมือถือยักษ์ในไทย กำลังก้าวไปสู่การแข่งขันที่ไม่ใช่แข่งเรื่องความเร็ว ความแรง และความเสถียรของสัญญาณ แต่เป็นเรื่องประสบการณ์พิเศษ ไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคล (Personalized) เช่น การใช้เลขหมาย Post Paid ได้ที่จอดรถพิเศษในห้าง การใช้แลกสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือการแลกตั๋วหนัง เป็นต้น
ส่วนที่น่าสนใจใน Life style Maketing เหล่านี้คือการแบ่งสัญญาณไปให้บริการพิเศษ เช่น การขายแพ็กเกจเพื่อให้ได้ดู YouTube โดยเฉพาะท่องโซเชียลมีเดีย หรือเข้าดูสตรีมมิ่งโดยเฉพาะ หรือเพื่อเล่นเกมยอดนิยมโดยเฉพาะ ซึ่งราคาจะไม่สูงเมื่อเทียบกับแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตทั่วไป ทำให้เข้าถึงผู้บริการได้เฉพาะกลุ่มได้ดีขึ้น
ทั้งยังมีกรณีที่ค่ายมือถือมีแพลตฟอร์มซุปเปอร์แอปเอง ที่รวมบริการหลายอย่างบนนั้น ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิง ข่าวสาร หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ลูกค้าบางรายเข้าใช้งานโดยไม่เสียค่าดาต้าอินเทอร์เน็ต
กรณีการแข่งขันด้วยการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะบุคคลเช่นนี้ ในเบื้องต้นย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะจะมีทางเลือกมากมายในราคาที่ย่อมเยาและยืดหยุ่นได้ตามต้องการ เช่น หากเราไม่ต้องการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือทำงานใดๆ เราก็ไม่ต้องจ่ายรายเดือนที่ 399 บาท เราอาจจ่ายราคาถูกลงไม่เกิน 100 บาท เฉพาะดูความบันเทิงบน YouTube หรือเพื่อเล่นเกมทั้งวัน
แต่ถ้าเกิดว่า ค่ายมือถือ ไม่แข่งกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?
หรือกรณีที่ถ้าพาร์ทเนอร์ของค่ายมือถือเลือกข้าง เช่น หากค่ายมือถือค่ายหนึ่งดีลกับแอปสตรีมมิ่งดูหนังว่า สามารถแบ่งความเร็วพิเศษ เหมือนทางด่วนให้ลูกค้าของตนให้ดูหนังได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ลื่นขึ้น แล้วดีลนี้ไม่ให้อีกค่ายมือถือหนึ่งทำ ย่อมทำให้ลูกค้าอีกค่ายหนึ่งเข้าถึงแอปดูหนังนั้นด้วยความเร็วแรงที่ต่ำกว่า
หรืออาจมีการดีลกับค่ายเกม เพื่อให้ลูกค้าจ่ายเพิ่มเล็กน้อย แลกกับการเฉือนคุณภาพสัญญาณที่ดีกว่าในการเล่นเกม
ล้วนเป็นการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นตามมา
ทำไมการซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ควรเข้าถึงทุกแอปทุกแพลตฟอร์มได้ด้วยความเร็ว ความจุ และคุณภาพที่ซื้อ ทำไมมีบางคนเข้าบางแอป ได้เร็วกว่า ดีกว่า
ว่าด้วย Net Neutrality
แนวคิดเรื่องกฎหมาย Net Neutrality หรือความเป็นกลางทางเน็ต ว่าด้วยหลักการที่ว่าผู้คนจะต้องเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้โดยเท่าเทียมกัน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงรัฐบาล จะต้องปฏิบัติกับโครงข่ายและข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษใดๆ
สมมติว่าคนที่ซื้อบริการอินเทอร์เน็ตที่ความเร็ว 10Gbps ต้องเข้าทั้งเว็บ Google YouTube Facebook หรือเว็บพันทิป เว็บมหาวิทยาลัย เว็บโรงเรียน ได้ด้วยความเร็ว 10Gbps เท่ากัน ไม่มีช่องทางพิเศษให้ใครใช้เว็บไหนได้เหนือกว่า
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเหนือผู้ให้บริการรายอื่น เช่น การลดทอนความเร็ววิดีโอของ Youtube ให้น้อยกว่าความเร็วคอนเทนต์วิดีโอของ Netflix
หลักการของ Net neutrality จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะสร้างความเป็นธรรมหรือความเป็นกลางระหว่างผู้ให้บริการทุกๆ ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายเล็กหรือรายใหญ่
ซึ่งหลักการนี้บังคับใช้ในหลายประเทศโดย หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคม (เหมือน กสทช. บ้านเรา) เช่นใน สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในอเมริกามีความพยายามถอดกฎหมายนี้ หลังจาก กสทช.สหรัฐ หรือ คณะกรรมการรัฐบาลกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐฯ (Federal Communications Commission) บังคับใช้สำเร็จในปี 2015
ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาล จึงลงมติยกเลิกข้อบังคับหลัก Net Neutrality เมื่อเดือนธ.ค. 2017 โดยประธานของ FCC อ้างว่ากฎเหล่านี้ลดความน่าดึงดูดในการลงทุนและขัดขวางการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาสังคม หรือบริษัทไอทีนำโดยบริษัทไอที 6 แห่ง (Kickstarter, Foursquare, Etsy, Shutterstock, Expa และ Automattic) ยื่นฟ้อง FCC จากการยกเลิกหลัก Net Neutrality
ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการหยิบยกประเด็นมาพูดถึงอย่างจริงจังนัก
พรมแดนใหม่ ของ กสทช.
ในบริบทประเทศไทย หลายคนมองว่าการแข่งขันด้านโทรคมนาคมนั้นดุเดือด จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการกีดกันการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเข้าถึงบริการบนเว็บไซต์
ในระยะสั้นเป็นเช่นนั้น แต่จากแนวโน้มของ Life style marketing ที่ค่ายมือถือยักษ์ของไทยเบนเข็มไปทางนั้น ระยะยาวต้องพิจารณาให้ดีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการกีดกันการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มระหว่างค่ายมือถือ กับผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีดีลเป็นคู่ค้าหรือเป็นพันธมิตรกับค่ายมือถือ
ต้องไม่เกิดกรณีที่ซื้อแพ็กเกจจากค่ายมือถือ A แต่เข้าใช้งานแอปจ่ายเงิน – อีวอลเล็ตของอีกค่ายไม่ได้ ต้องไปซื้อแพ็กเกจค่าย B ตรงนี้แม้เป็นไปได้ยาก แต่อนาคตไม่แน่นอน
ขณะที่ราคาค่าบริการมือถือขั้นพื้นฐานที่รวมค่าโทร และค่าใช้ดาต้าหรืออินเทอร์เน็ตนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ปัจจุบัน คนไทยจ่าย “แพง” หรือไม่ ลูกเล่นการคิดค่าบริการก็เปลี่ยนแปลงทุกวันตามการใช้งานที่เปลี่ยนไป และบริการที่หลากหลายขึ้นในโลกดิจิทัล
แต่การกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ภายใต้ กสทช. ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนห่างไกลเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม หรือ USO net (Universal Service Obligation Network) มาตั้งแต่ปี 2548
แน่นอนว่าในบริบท 20 ปีก่อน สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ผู้คนห่างไกลเข้าถึงบริการโทรคมนาคม คือ การวางโครงสร้างโทรคมนาคม เช่น โครงข่ายสายใยแก้วนำแสง ชุดอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียม ตลอดจนเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์และอื่นๆ เป็นพื้นฐาน เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม
แต่วันนี้บริบทของการโทรคมนาคมเปลี่ยนไปมาก ผู้คนไม่ใช่แค่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในบางโอกาส แต่เป็นทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่การจับจ่าย e-Payment การเข้ารับบริการสาธารณสุข งานทะเบียน รวมถึงในการใช้สื่อสารส่วนตน อ่านข่าวสาร ค้นคว้าหาความรู้ หรือ ใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป
“ศ.คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธาน กสทช. กล่าวว่า ทั้งการใช้งานโทรคมนาคมข้ามอุปกรณ์ ข้ามช่องทางโทรนาคม รวมถึงเรื่องการมาถึงของเอไอที่ทำให้การใช้งานดาต้าของคนไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์อยู่ราว 120 ล้านเลขหมาย และคลื่นความถี่ 4G ครอบคลุม 98% และ 5G 83% การใช้งานในยุคนี้เราเห็นแนวโน้มการใช้งานถ่ายโอนดาต้ามากขึ้น ความหนาแน่นบนเครือข่ายไม่ด้อยกว่าใครในโลก และประมาณการว่าคนไทยจะใช้งานดาต้า 1,156 GB ต่อคนต่อปีในปี 2029
“แม้ กสทช. จะไม่ได้กำกับเอไอโดยตรง แต่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงเอไออย่างทั่วถึงเท่าเทียมได้ ผ่าน USO Net ที่ กสทช. ส่งเสริมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทั่วทุกชุมชนหมู่บ้านไปแล้วกว่า 2 หมื่นหมู่บ้าน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สนับสนุนอีก 4 หมื่นหมู่บ้าน รวมแล้ว 6 หมื่นหมู่บ้าน ในอนาคตเชื่อว่า ทุกหมู่บ้านจะเข้าถึง AI ได้ต่อไป เริ่มจาก AI ในระบบสาธารณสุข”
แนวคิดนี้ คือ มุมมองว่าต่อไปอินเทอร์เน็ตจะเป็น Public Goods เป็นบริการขั้นพื้นฐานสาธารณะที่ประชาชนขาดไม่ได้ กสทช. มีแนวโน้มส่งเสริมส่วนนี้ ขณะที่แนวโน้มของการตลาดโทรคมนาคมเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ Personalization เฉพาะตนเฉพาะตัวมากขึ้น
แต่ถ้าแบ่งแยกบริการอินเทอร์เน็ตเช่นนี้อาจมีการทำให้เกิดเงื่อนไขพิเศษที่เป็นการกีดกัน เช่น อินเทอร์เน็ตสาธารณะอาจเข้าถึงได้แค่บริการสาธารณะ เช่น ธนาคาร ติดต่อราชการ การศึกษา หรือแจ้งเหตุภัย ส่วนอินเทอร์เน็ตส่วนตัวใช้เพื่อความบันเทิง ก็จะกลับมาสู่คำถามที่ว่านี่คือการกีดกันการเข้าถึงเว็บไซต์และไม่เป็น Net Neutrality หรือไม่?
ดังนั้นการผสานความเป็น Public และ Personalized ของอินเทอร์เน็ต จึงต้องมีการพิจารณา และ Net Neutrality อาจเป็นพรมแดนใหม่ที่ต้องก้าวไป และจะเป็นหลักการที่ต้องนำมาคิดอย่างจริงจังว่าจะยึดหลักนี้เพื่อวางรากฐานการกำกับดูแลมาตรฐานของอินเทอร์เน็ตในทศวรรษถัดไปหรือไม่?