ผวา! “งบฯเพี้ยน-รัฐบาลพัง”กมธ.งบฯ=สนามเด็กเล่น“รมต.พี่เก้า” โฉ่งฉ่าง-มือไม่ถึง

เข้าสู่ฤดู “อีแร้ง” รุมทึ้ง ออกหากินกับการจัดทำ “งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568” ที่ผ่านวาระที่ 1 วาระรับหลักการ จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และส่งไม้ให้คณะกรรมาธิการพิจารณาต่อ ตามขั้นตอน

การจัดทำงบประมาณปี 68 ถือเป็นการจัดทำงบประมาณรอบ 2 ของ “รัฐบาลค่ายสีแดง” หลังจากที่การจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้ากว่าปฏิทินปกติ เหตุจากปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล และเพิ่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ตามรอบปกติงบประมาณต้องเริ่มเบิกจ่ายกันในเดือน ต.ค.ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของแต่ละปีงบประมาณ

และแม้งบประมาณปี 67 จะประกาศใช้ไปแล้ว แต่ก็น่าสังเกตไม่น้อยว่า ปัญหาเศรษฐกิจยังรุมเร้าจนประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่มีงบประมาณภาครัฐเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล

ซึ่งก่อนหน้าที่งบประมาณจะอนุมัตินี้ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็พยายามชี้แจงคำถามที่ถามถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำว่า เป็นเพราะงบลงทุนภาครัฐยังไม่ถูกอัดฉีดลงไปในพื้นที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน

ทว่า เมื่องบลงทุนภาครัฐถูกอัดฉีดลงไป กลับไร้แรงเหวี่ยง-ไร้พายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่ “รัฐบาล-เศรษฐา” คาดหวัง

ว่ากันว่างบประมาณปี 67 ซึ่งวางโครงมาจากรัฐบาลชุดก่อน โดยรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้มาจัดทำต่อแบบฉุกละหุกนั้น ตรวจพบจุดที่ “บิ๊กรัฐบาลเก่า” วางบิล-วางโครงการ เอาไว้แล้วจำนวนมาก ทำให้ “รัฐบาลค่ายสีแดง” ใช้เครื่องยนต์อย่างงบประมาณภาครัฐไม่ค่อยถนัดถนี่

ซ้ำร้ายยังมีข่าวหนาหูว่า มีความพยายามเข้าไปล้วงลึกในรายละเอียดหลายโครงการ ใช้ทุกกลวิธีเพื่อดึงงบประมาณกลับเข้าอ้อมอกตัวเอง กระทั่งทำให้งบประมาณเข้าระบบแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ

และเมื่อเข้าสู่เทศกาลจัดทำงบประมาณปี 68 “รัฐบาลค่ายสีแดง” จึงหมายมั่นจะวางโครงการตอบสนองประชาชน แถมต้องตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

เพราะในกระดานการเมืองแล้ว มี “นายทุน” น้อยคนจะลงทุนกับการเมือง ส่วนใหญ่จะต้องใช้ประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อนำมาแจกจ่ายคืนทุนให้ “นักเลือกตั้ง” มากกว่า

ไล่เรียงรายชื่อ “กมธ.งบประมาณ” ปี 68 ทำทรงเหมือนส่ง “ตัวเทพ” ลงสนาม จัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝืดเคืองของประเทศ แต่เมื่อไล่เช็คตัว กมธ. แล้ว เหมือนส่ง “เด็กปั้น” มาลองสนาม ทั้งที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ เงินในกระเป๋าของประชาชนแทบไม่มีเหลือ

แน่นอนโควตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามตำแหน่งต้องให้ “ขุนคลัง” รมว.คลัง ทำหน้าที่ประธาน กมธ. โดยในงวดปี 67 นั้น “นายกฯ นิด” นั่งควบ รมว.คลัง จึงเป็นใส่ชื่อ “เฮียอ้วน” ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯอันดับ 1 ควบ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

มาหนนี้ก็ได้ “ขุนคลังป้ายแดง” พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง นั่งประธาน กมธ. ที่แม้จะถือเป็นมือเศรษฐกิจการเงิน แต่ก็ไร้ประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณภาครัฐ ก็ต้องถือว่าอยู่ในชั้น “ละอ่อน” แต่ด้วยตำแหน่งเลยได้แสดงบทนำ

ที่น่าแปลกใจต้องชื่อของ “เสี่ยเพ้า” จักรพงษ์ แสงมณี” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อมาแรงแหกทุกโค้ง-ข้ามทุกหัว แหวกคิวมาเป็นรองประธาน กมธ.งบฯ คนที่ 1 แม้จะเคยร่วมเป็น กมธ.ปี 67 แต่หากเทียบเบอร์กับรองประธานฯ คนอื่นๆ ก็ต้องถือว่า ประสบการณ์ด้อยกว่าหลายขุม

อย่างไรก็ดีที่ “รมต.เพ้า” เหาะมาลงที่ “รองฯ 1” ได้ ไม่เพียงเพราะกำกับดูแล “สำนักงบประมาณ” หน่วยงานหลักในการจัดทำงบฯ เท่านั้น แต่ตีตั๋ว “สายตรงนายกฯ” มาเพียงเป็นหูเป็นตาให้ท่านผู้นำด้วย

และหากไล่เรียงรองประธานในลำดับถัดๆ ไป ก็จะเห็นชัดว่า “รมต.เพ้า” ที่ไม่เคยเป็น สส. ไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้ง และเพิ่งได้มาเป็นรัฐมนตรีไม่ถึงปี กลายเป็น “เด็กน้อย” ทันที

เพราะตั้งแต่รองประธานคนที่ 2 เป็นต้นไป ล้วนแล้วเป็นผู้มากประสบการณ์ ผ่านการทำงบประมาณมาหลายสมัยอย่าง “เสี่ยหนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง หรือ “แม่เดือน“ มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ที่ยังต้องหลบทางให้

เช่นเดียวกับตัวเก๋าจากพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “พี่หลา” ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ค่ายภูมิใจไทย, “แม่เลี้ยงติ๊ก” ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ตัวแทนรวมไทยสร้างชาติ หรือยิ่งยี่ห้อ “เสี่ยต๋อง” วราเทพ รัตนากร จากพรรคพลังประชารัฐ ที่งวดนี้กลับมาเป็นรองประธานอีกครั้ง หลังหลบไปเป็นเพียงที่ปรึกษาในสมัยหลังๆ ก็ผ่านการคุมเกมใน กมธ.งบฯ มาหลายสมัย

ขณะที่โควตา กมธ. งบฯ สัดส่วนของ “เพื่อไทย” แม้จะมีตัวเก่า-ตัวเก๋าอยู่บ้าง แต่เน้นส่ง “เด็ก” ลงสนามฝึก ไล่ตั้งแต่ “วัชระพล ขาวขำ” สส.อุดรธานี ลูกชายของ “วิเชียร ขาวขำ” นายก อบจ. อุดรธานี, “พชร จันทรรวงทอง” สส. นครราชสีมา ลูกชาย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี, “โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย” สส.ชัยภูมิ , “ธัญธารีย์ สันตพันธุ์” สส.อุบลราชธานี, “วรวงศ์ วรปัญญา” สส.ลพบุรี หลานชายของ “นิยม วรปัญญา” อดีต สส.พรรคเพื่อไทย, “พนม โพธิ์แก้ว” สส.กาญจนบุรี, “สุรเกียรติ เทียนทอง” ทายาทการเมืองตระกูลเทียนทอง รวมไปถึง “เสี่ยโฟม“ พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค หลานชาย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม

จะเห็นได้ว่า รายชื่อ กมธ.งบฯ สัดส่วนของ “เพื่อไทย” ดูอ่อนวัย-อ่อนประสบการณ์ จัดอยู่ในกลุ่มทดลองงาน จนมีเสียงค่อนขอดว่าเป็น “สนามเด็กเล่น” แม้จะมีความพยายามอธิบายว่า ต้องการสร้าง “คนรุ่นใหม่” แต่ก็กด “คนรุ่นเก่า” ไม่ให้มีบทบาท ทั้งที่ควรให้เป็นพี่เลี้ยงประคองรุ่นลูก-หลาน

เอาแค่ในการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระที่ 1 ซึ่ง พรรคเพื่อไทย ก็เปิดให้ สส.ลงชื่อร่วมอภิปรายตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏ สส.ที่ลงชื่อเตรียมข้อมูลอภิปราย กลับถูกตัดชื่อทิ้ง ไม่ได้ลุกขึ้นพูดแม้แต่วินาทีเดียว

ด้วยนโยบายของ “หัวหน้าอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ทุบโต๊ะว่า ผู้ที่ขึ้นอภิปรายได้จะต้องพะยี่ห้อ “PTP Academy” หรือ “เพื่อไทย อคาเดมี” ที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นาน เท่านั้น ทำเอาบรรดา สส.บ่นกันอุบเลยทีเดียว

หนักไปกว่านั้น ในชั้น กมธ. ยังมี “เสนาบดีคนหนึ่ง” รับหน้าเสื่อคอยเป็นคนจัดแจงงบประมาณเกือบทั้งหมด จน “รัฐมนตรี-สส.” ค่ายเดียวกัน ออกอาการไม่พอใจ เพราะชอบทำตัวจุ้นจ้านล้วงลูก ทั้งที่ยังไม่เชี่ยวชาญกลเกมงบประมาณ ก่อนนำความเท็จแจ้นไปฟ้อง “นายใหญ่ตึกไทยคู่ฟ้า” หลายครั้ง ตั้งแต่การจัดทำงบประมาณงวดก่อน

คนใน “เพื่อไทย” แค่เอ่ยชื่อของ “เสนาบดีคนนี้” ที่ถูกเรียกขานเป็นโค้ดลับว่า “พี่เก้า” ก็มีแต่เบะปาก-ส่ายหัว ไร้เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ แต่ก็ต้องทำใจ เพราะถือว่า “เส้นใหญ่” ระดับสายตรงท่านผู้นำ

ว่ากันว่า “เสนาบดีพี่เก้า” เคยทำหน้าที่ “เดินโพย-เร่ขายงบฯ” มาตั้งแต่งบประมาณปี 67 จนทำเอาหวาดเสียวกันทั้ง กมธ. ด้วยสไตล์ “โฉ่งฉ่าง” แบบที่ รัฐมนตรี-สส.-ข้าราชการ บ่นกันระงม

พลันมาถึงงบประมาณปี 68 ดูเหมือนจะได้รับ “อาญาสิทธิ์” มากขึ้น ทั้งที่ “มือไม่ถึง” จนน่ากลัวว่า ไม่แค่งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจะบิดเบี้ยว-ตกหล่น ยังอาจทำเสถียรภาพที่มั่นคงของรัฐบาลสั่นคลอน ด้วยครหาทุจริตคอร์รัปชัน

โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจสาหัสสากรรจ์ ข้าวยากหมากแพง ประชาชนคนไทยโงหัวไม่ขึ้น แต่หาก “ฝ่ายการเมือง“ ที่แก้ไขปัญหาไม่ได้ กลับอู้ฟู่ขึ้นมา จากการสวาปามงบประมาณประเทศ ก็ดูท่าจะอยู่กันยาก

จึงต้องจับตาว่า “รมต.พี่เก้า” ที่มารับบท “เด็กเดินโพย-เร่ขายงบฯ” จะนำความเสียหายมาสู่รัฐบาล อย่างที่คนในพรรคเพื่อไทยกังวลกันหรือไม่