ปัญหาสินค้าจีนราคาถูก ไม่ผ่านมาตรฐานสินค้า ทะลักเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยการค้าข้ามพรมแดน ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เริ่มถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นวงกว้าง ลุกลามเป็นข้อกังวลใหญ่ที่สุดคือ สินค้าเหล่านี้จะทำลายสายการผลิต ระดับ SME ในประเทศไทยเสียเอง เพราะรับมาขายต่อถูกกว่า
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมาขยับรับหน้าเสื่อเป็นแม่งานประสานสิบทิศทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ศุลกากร สรรพากร กระทรวงดีอี หาหนทางมาตรการรับมือ
ดูเหมือนว่าจะดี แต่เจ้าตัวกลับมองว่าแม้มีความเสี่ยง แต่ก็ยังถือว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการด้วย ดังนั้นในเชิงการสื่อสารก็ไม่มีทีท่าว่า จะใช้ยาแรงสกัดกั้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป หรืออินโดนีเซีย ที่ตั้งกำแพงภาษีกีดกันเต็มที่ แต่น้ำเสียงของผู้ใหญ่หลายคนออกมาในเชิงให้สกัดสินค้าอย่างระมัดระวัง เพราะกระทบความสัมพันธ์ และดีลการค้าอื่นที่จะเกิดตามมา
หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ ไม่มีการออกกฎหมายและมาตรการมากำกับดูแล
แท้จริงแล้ว กฎหมายมีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานสินค้า การควบคุมนำเข้าส่งออก ล่าสุดคือการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งสามารถปรับมาตรการภาษีได้อีก
แม้กระทั่งกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมายแพลตฟอร์ม ที่เป็นกฎหมายใหม่ที่ติดอาวุธให้ภาครัฐเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นจากแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กรณีที่มีความเสี่ยงและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือประชาชนเป็นวงกว้าง เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าไปสาวข้อมูลถึงต้นตอของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานทั้ง มอก. อย. และอื่นๆ ได้ถึงผู้ผลิตและผู้จัดส่ง
ปัญหาจึงเป็นเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลมีแนวโน้มจะก้มหน้าก้มตาพูดตรงกันว่า ต้องดูเรื่องความสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ สินค้าจากจีนยังมีส่วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในระบบการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภคในไทย
ทั้งนี้ หากมีการกำกับมากไป อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ว่าเป็นการกีดกันสินค้าจีน ทำให้เกิดผลเสียทุกทาง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะดีลให้อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน “ไลฟ์” ขายสินค้าท้องถิ่นจากไทย โดยเฉพาะอาหารและหัตถกรรมสู่ตลาดจีนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ
จะว่าการกีดกันสินค้าจีนจะสะเทือนความสัมพันธ์ก็ไม่ผิดนัก เพราะเหตุผลที่สินค้าจีนทะลักสู่ประเทศไทย เป็นผลพวงของนโยบายประคองเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมจีน
ด้วยจีนมีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง และมีการนำเข้าเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง อัตราผลผลิตจึงสูงมาก
แต่ภาวะเศรษฐกิจจีนเองก็ไม่ได้แข็งแรงเท่าที่เป็น การชะลอการผลิต จะส่งผลถึงการจ้างงาน และแน่นอนว่าส่งผลถึงกำลังการบริโภคที่ส่อแววลดลง จึงหยุดผลิตไม่ได้เพื่อคงการจ้างงานและเเรงบริโภคไว้
ดังนั้นทำให้ปริมาณสินค้ามหาศาลล้นเหลือ จนต้องหาทางออกผ่านช่องทางการค้าข้ามพรมแดน ที่สั่งของแล้วส่งตรงจากจีน หรือ “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน”
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าข้ามพรมแดนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนเติบโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า
สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของจีน
นอกจากนี้รายงานระบุด้วยว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2567 จีนมีบริษัทที่ทำการค้าข้ามพรมแดนมากกว่า 120,000 บริษัท มีนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 1,000 แห่ง และมีจำนวนคลังสินค้าในต่างประเทศกว่า 2,500 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 30 ล้านตารางเมตร
ในปี 2024 นี้ กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศว่าจะมีการดำเนินการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ตามพิมพ์เขียวที่กระทรวงฯ เสนอให้เป็นแผนแม่บทสำหรับขยายตลาดอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการตั้งสถานีการค้า คลังสินค้า รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากรอีกมหาศาล เพื่อ “ต่อท่อ” สินค้าจากจีนไปตามเส้นทางสายไหมใหม่และเส้นทางอื่นทั่วโลก
ด้วยแผนการใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซเช่นนี้สร้างความพรั่นพรึงไปทั่วโลก
สำนักบริหารของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาถึงกับต้องออกมาโจมตีว่า การที่จีนไม่หยุดผลิต จนสินค้าล้นออกมามากไปกระทบกับการแข่งขันที่เป็นธรรมภายในประเทศก่อนตั้งกำแพงภาษีจากสินค้าจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเดือน พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
จากนั้นหลายประเทศก็ทยอยเตรียมตัวรับมือ ตั้งแต่สหภาพยุโรป จนถึงเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซียที่เข้มงวดกับการเข้ามาบุกตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่างมาก
อินโดฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงสุด 200% ส่วนมาเลเซียและเวียดนามตั้งทีมสืบสวนและศึกษาการทุ่มราคา บิดเบือนกลไกตลาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรมของสินค้าจีน
ผลพวงของการเริ่มมาตรการกีดกันสินค้าจีนในภูมิภาคอาเซียนจะส่งผลให้สินค้าหลายรายการต้องหาทางออกไปยังประเทศที่มีการป้องกันอ่อนแอกว่าก่อน โดยเฉพาะประเทศที่มีเส้นทางโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยให้สินค้าหลั่งไหลเข้าสู่ดินแดน มิหนำซ้ำประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีมีธุรกิจอื่นๆ รองรับทั้งระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นคลังสินค้าหรือโกดังรอบกรุงเทพฯ บริษัทขนส่งสัญชาติจีนที่ส่งได้ทั้งในไทยและส่งข้ามชาติ รวมถึงโครงข่ายโทรคมนาคมที่เอื้อให้คนใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล
อาจต้องคิดทบทวนกันเร็วกว่านี้ว่า ในความเกรงใจและความหวาดกลัวกระทบความสัมพันธ์นั้น ความเกรงใจที่ว่านี้ทำให้เราได้และเสียอะไร
เพราะชะตากรรมเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สินค้าจีนจะหลั่งไหลเข้ามาอีกมากจากการสนับสนุนโดยตรงของกระทรวงพาณิชย์จีน เป็นอำนาจใหม่ที่กระทบกับสายพานการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภคในประเทศเรา