ธนาคารไร้สาขา เกมทุนเก่า ในชื่อเรียกใหม่ ใครได้ประโยชน์?

แนวคิด Virtual Bank เกมทุนเก่า ในชื่อเรียกใหม่ ใครได้ประโยชน์?

ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับการขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่ว่ากันว่ามีขึ้นเพื่อให้บริการแก่ผู้เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือ เข้าถึงแต่ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้ เช่น มีบัญชีธนาคาร แต่ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อลงทุนได้ (Underserved Group)

หลายคนยังคงกังขาว่า Virtual Bank นั้นต่างอะไรกับ Digital Banking หรือ Mobile Banking ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคารอยู่แล้ว หรือรวมถึงคนไม่มีทักษะด้านดิจิทัลอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ธนาคารไม่มีสาขา มันจะไปตอบโจทย์คนกลุ่มนั้นได้อย่างไร

สุดท้าย ใครกันแน่ที่จะช่วงใช้ประโยชน์จากใบอนุญาตนี้ แล้วประชาชน – ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME จะได้บริการอย่างสมน้ำสมเนื้อหรือไม่

สถานการณ์ล่าสุด กระทรวงการคลัง เปิดให้เอกชนยื่นขอใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.2567 นี้ และจะร่วมกันพิจารณาคุณสมบัติ และชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในช่วง มิ.ย.2568 คาดว่าจะเริ่มเห็นผู้ให้บริการ Virtual Bank รายแรกในไทยภายในปี 2569

ระหว่างนี้ กลุ่มทุนอย่างน้อย 4 กลุ่ม เริ่มออกมาประกาศลงสนามท้าชิง Virtual Bank แต่ไม่มีใครเข้าร่วมอย่างโดดเดี่ยว ต้องมี “พันธมิตร” ที่แข็งแกร่งทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีร่วมลงขันด้วย ลำพังธนาคารหรือสถาบันการเงินอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

ช่วงนี้ เป็นช่วง “ซอยเท้า” เข้าหากันและกันของบิ๊กเนมในประเทศ ที่ล้วนเป็นกลุ่มทุนขาประจำ

ทุนใหญ่กลุ่มแรกที่คิดว่าชัดเจนมากแล้ว คือ บมจ. Gulf – AIS และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2568 Gulf ที่อยู่ระหว่างการควบรวม Intouch Holdings บริษัทแม่ของ AIS สามารถครอบครองทั้งธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร-ดิจิทัล จากการรวบ AIS – ไทยคม ไว้ในมือ รวมถึงธุรกิจการเงินการธนาคารจากใบอนุญาต Virtual Bank

รายที่สอง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จับมือกับ WeBank ทุนธนาคารจีน และ Kaokao Bank ธนาคารดิจิทัลยักษ์จากเกาหลีใต้

ทุนกลุ่มที่สาม มาจากค่ายค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คือ บมจ. เจมาร์ท (Jaymart) ซึ่งมี Jventures ที่เป็นหัวหอกผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากให้กับบริษัทแม่ แม้ว่าจะประกาศอย่างอาจหาญว่าลงลุยคนเดียว แต่ก็ยังดอดคุยกับธนาคารในไทยบางรายอยู่ ยังไม่รวมถึงการมีแบ็คเป็นกลุ่มธนาคารยักษ์ในเกาหลีใต้อีกด้วย

กลุ่มสุดท้ายเครือ CP ส่งบริษัทลูกอย่าง “แอสเซนด์ มันนี่” หรือผู้พัฒนาแอป True Money Wallet ซึ่งมีสถานะเป็น “สตาร์ทอัพยูนิคอร์น” รายที่สองของไทยเลยทีเดียว โดย True Money ได้ให้บริการด้านสินเชื่อในเบื้องต้นโดยใช้ฐานข้อมูลการใช้จ่ายแทนบัญชีธนาคารมายาวนานแล้ว เรียกว่ามีเทคโนโลยีพร้อมเหลือแค่การเป็น “ธนาคาร” เต็มตัว แน่นอนว่าบริษัทนี้จะได้รับความแข็งแกร่งทางการเงินจากเครือ CP และพันธมิตรทุนจีน Bow Wave Capital Management และ Ant Group ซึ่งผู้ให้บริการด้านการเงินรายใหญ่จากประเทศจีน

แน่นอนว่าจะทำให้ เครือ CP ครอบครองทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ค้าปลีก โทรคมนาคม เทคโนโลยีสื่อสาร และการเงิน เช่นเดียวกับกลุ่มทุน Gulf

สิ่งที่คิดต่อจากดีลนี้ คือ จะเห็นว่า “กลุ่มร่วมทุน” หรือ Consortium แต่ละกลุ่มมีการผสมผสานของกลุ่มการเงินการธนาคาร และ “กลุ่มพ่อค้า” หรือผู้ให้บริการค้าปลีกแก่ลูกค้ารายย่อย เช่น AIS มีลูกค้ามือถืออยู่ 40 ล้านคน เครือ เจย์มาร์ท มีลูกค้าร้านอิเล็กทรอนิกส์ ซิงเกอร์ และสุกี้ตี๋น้อยราว 20 ล้านคน เครือ CP และกลุ่มทรู มีลูกค้ารายย่อยราว 50 ล้านคน

แม้แต่เครือ SCB ที่แม้จะยุติการดำเนินแพลตฟอร์ม Robinhood ซึ่งเป็นแอปค้าปลีก (Retail App) ไปแล้ว แต่เร็วๆ คาดว่า Kakao จากเกาหลีใต้จะเริ่มเข้ามารุกตลาดไทยมากขึ้น เช่น แอปฯ อ่านการ์ตูน Kakao Webtoon, แอปฯ ฟังเพลงสตรีมมิ่ง Melon และ Kakao Music

“จำนวนผู้ใช้งานรายย่อย” หรือ “ลูกค้าบนแพลตฟอร์ม” เหล่านี้จะเป็นรากฐานของ “ข้อมูล” ที่สถาบันการเงินใช้เพื่อ “พิจารณาสินเชื่อ” ทดแทนการอ่านสเตทเม้นแบบดั้งเดิมของธนาคารรุ่นเก่า

ตัวอย่าง เช่น หากร้านขายลูกชิ้น ซื้อของจากห้างแมคโครฯ ทุกวันยอดบิลวันละ 1,000 บาท หมายความว่าร้านค้านี้มีสภาพคล่องเดือนละมากกว่า 30,000 บาท ดังนั้นหากเสนอเงินกู้เพื่อขยายธุรกิจที่ 45,000 บาท (กรณีสมมติ โดยคิดเท่าตัวจากเงินเดือนเหมือนสินเชื่อบัตรเครดิต) ก็มีโอกาสที่เจ้าของร้านลูกชิ้นจะสนใจนำไปหมุนก่อน

หรือหากเห็นว่ามีการซื้อเนื้อซื้อแป้งหรือลูกชิ้นสำเร็จรูป ก็อาจมีการเสนอขาย “เครื่องปิ้งลูกชิ้น” ในราคาที่ดี และสามารถ “ผ่อนชำระ” ได้ เพราะพวกเขารู้ว่าพ่อค้าคนนี้จะจ่ายคืนได้แน่ ด้วยสภาพคล่องและการทำธุรกิจขายลูกชิ้น สร้างโอกาสการขายจาก “เงินในอนาคต” ได้อีกทางหนึ่ง

แต่การกระทำเช่นนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมไม่อาจกระทำได้ เพราะนอกจากขัดกฎหมายธนาคารแล้ว แต่ในเชิงเทคนิคคนขายลูกชิ้นไม่ได้เอาเงินไปฝากธนาคาร แต่นำเงินสดไปซื้อของมาเติมร้านทุกวัน ทำให้ธนาคารไม่สามารถให้คะเเนนเครดิตสินเชื่อได้ แต่ข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าที่มีค่าดั่งทองของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก สามารถไปดึงเงินจากธนาคารมาช่วยปล่อยกู้ได้ ซึ่งช่องทางคือ ธนาคาร ต้องไม่เป็นธนาคารจึงต้องมาร่วมมือกับค้าปลีก ผ่าน Virtual Bank

ในทางเดียวกัน กลุ่มทุนค้าปลีก กลับมีเฉพาะ “ข้อมูลลูกค้า” ของธุรกิจตน จะไปเจาะกลุ่มอื่นๆ ก็ยาก แต่ “ธนาคาร” มีข้อมูลของทุกกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในระบบธนาคารดั้งเดิม ที่สามารถแลกเปลี่ยนและมองเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าไว้ปล่อยกู้

ผลสุดท้ายของ Consortium นี้ คือ การ “ค้าข้อมูล” ของลูกค้าและประชาชนแบบหนึ่ง อาจจะช่วยผู้ที่เห็นโอกาสนำเงินไปลงทุนต่อยอดได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้บริการ

แต่ที่แน่ๆ กลุ่มทุนการเงิน และ กลุ่มค้าปลีก “วิน-วิน” คนมีเงินได้ปล่อยกู้ คนมีของได้ปล่อยของ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าว่า Virtual Bank จะเข้าถึงพี่น้องประชาชน โดยเน้นลูกค้ารายย่อย และ SMEs ที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (unserved) เช่น ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน/เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการที่ดีเพียงพอไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตน (underserved) ให้มีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้นต่อไป