“พรรคประชาชน” แฉ!ขบวนการค่าไฟแพง ฟอกเขียวนายทุน

“พรรคประชาชน” แฉ!ขบวนการค่าไฟแพง ฟอกเขียวนายทุน เพื่อไทย กำลังจะสานต่อ

(21 ต.ค.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคประชาชาชน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน และ ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวหัวข้อ Policy Watch : ขบวนการค่าไฟแพง กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลเพื่อไทย

ศุภโชติ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ตามแผนพลังงานชาติฉบับปี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมไปถึงกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทขึ้น เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.17 บาทต่อหน่วยหรือจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ 3.1 บาทต่อหน่วย โดยพ่วงท้ายแถมมาด้วยว่า สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณและเงื่อนไงการรับซื้อได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตราที่รับซื้อได้

พอมติ กพช. ออกมาแบบนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็รับลูกด้วยการออกหลักเกณฑ์จัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 5,203 MW เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีเดียวกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ออกมาก็ระบุไว้ว่า จะไม่มีการประมูลเรื่องราคากัน การจัดหาไฟฟ้ารอบแรกยังไม่เสร็จสิ้นยังไม่ได้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก แต่วันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช.ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ก็มีมติทิ้งทวนว่า จะจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,600 MW แล้วก็ยังบอกว่า ยืนยันจะให้ใช้อัตราการรับซื้อเดิม

“หลังจากนั้นไม่กี่วันผลการคัดเลือกของรอบแรกจำนวน 5,203 MW ก็ประกาศออกมาว่า ใคร บริษัทไหน ได้โครงการอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องบอกว่า เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้ง ระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่อนข้างสั้นทำให้บางบริษัทนั้นไม่มีเวลาที่เพียงพอในการเตรียมเอกสาร รวมไปถึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์มาล่วงหน้าว่า จะให้คะแนนกันอย่างไรทำให้มีคนเข้าร่วมรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมีการฟ้องร้องกันมากมาย”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีมติ
ปรับปรุงหลักเกณฑ์ การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 MW แต่ไม่แน่ใจว่า มีการปรับปรุงอย่างไรจึงทำให้มีการล็อกโควตากว่า 2,100 MW ให้กับผู้ที่เคยยื่นเข้ามาในรอบ 5,200 MW เมื่อตอนปี 2565 เท่านั้น และเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมตามมติ กบง.

“กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ถ้าทุกท่านได้มีโอกาสลองไปดูในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า มันเป็นกระบวนการที่ทำกันมาหลายรัฐบาลและกำลังจะถูกสานต่ออีกครั้งในรัฐบาลแพทองธาร”

จากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบนี้นั้น ได้สรุปข้อพิรุธออกมาทั้งหมดจำนวน 5 ข้อที่ทำให้พี่น้องประชาชนนั้นเสียผลประโยชน์และต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น คือ

ประการที่ 1 ด้วยโครงสร้างของประเทศไทยทุกการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐ
ทุกสัญญาสัมปทานที่รัฐให้เอกชนจะกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกคน ถ้ามีการซื้อไฟแพงต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ปกติแล้วเวลาเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจะมีการให้เอกชนแข่งกันเสนอราคา ที่ตัวเองสามารถทำได้เข้ามาให้รัฐเป็นคนตัดสิน ใครที่สามารถทำราคาได้ถูกที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป เช่น รัฐกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.17 บาท ต่อหน่วย และเปิดให้เอกชนเสนอราคาว่าพวกเขาสามารถทำราคาที่ถูกกว่านี้ได้เท่าไร บางคนสามารถทำได้ที่ราคา 1.9 บาทหรือบางคนทำราคาได้ที่ 1.7 บาท ต่อหน่วยคนที่เสนอราคาได้ถูกที่สุดคือ 1.7
บาทต่อหน่วยก็จะเป็นผู้ชนะไป

กลไกแบบนี้ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งหมดลดลง แต่จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรอบนี้ แต่ไม่มีประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดนั้นประชาชนคนจะต้องเป็นคนแบกรับการจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

“ในขณะที่ประชาชนต้องเสียประโยชน์จากการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น แต่ คนที่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลตั้งราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง และไม่ให้มีการประมูลแข่งกันเรื่องราคาเข้ามา ก็คือ เอกชนที่ได้โครงการไป
เพราะว่าพวกเขาก็จะได้กำไรแบบเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว สิ่งนี้สะท้อนอยู่ใน การประกาศรับซื้อเมื่อปี 2565 ที่ประกาศรับซื้อ 5,203 MW แต่มีเอกชนมายื่นเสนอโครงการถึง 17,400 MW นั่นหมายความว่า มีความสนใจมากกว่าความต้องการถึง 3.3 เท่า

“ที่แย่ที่สุดการรับซื้อเมื่อปี พ.ศ. 2567 นี้ คือ การที่ยังใช้ราคารับซื้อราคาเดิมที่เคยประกาศรับซื้อเมื่อ พ.ศ. 2565 ผ่านไป 2 ปีก็ยังคงจะประกาศรับซื้อราคาเดิม โดยไม่มีการคิดถึงต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงทุกปีตามการพัฒนาของเทคโนโลยี”

นั่นหมายความว่า ถ้าเป็นโครงการที่จะมีการก่อสร้างในปี 2570 ขึ้นไป
นั่นหมายความว่าพวกเขาใช้เงินในการลงทุนน้อยลงแต่จะสามารถขายไฟแพง ในราคาที่คิดล่วงหน้าเกือบ 10 ปี โครงการเกิดในปี 73 แต่ราคารับซื้อคิดกันตั้งแต่ปี 65

ประเด็นที่ 2 คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบกำหนดเงื่อนไขกีดกัน รัฐวิสาหกิจ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกจากกระบวนการรับซื้อไปเลย ทั้งๆ ที่ กฟผ.เคยพิสูจน์ว่า ทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธร ได้ในปี พ.ศ. 2564 และมีต้นทุนไฟฟ้าอยู่ที่
1.5 บาท/หน่วย แต่ถูกกีดกันออกจากการรับซื้อในรอบนี้คนที่สามารถผลิตของถูกได้ ท่านไม่เอา แต่รัฐบาลกลับยินดีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.2 บาท/หน่วย เมื่อปี 2565
และ 2567 ก็ยังคงใช้ราคาเดิมซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจว่า ในเมื่อรัฐวิสาหกิจ อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถทำราคาได้ถูกกว่าทำไมถึงไม่ยอมให้เข้าร่วมกระบวนการการคัดเลือกในรอบนี้

ประเด็นที่ 3 คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกก่อนเลย ตั้งแต่ในรอบปี 2565 และ รอบปี 2567 นี้ก็เช่นกันก็ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนให้เอกชนรู้ก่อนได้เลยว่า เขาควรจะเตรียมโครงการยังไงเพื่อที่จะทำให้ชนะการคัดเลือกเลยทำให้มีช่องโหว่ในการตัดสินและผู้ประเมินก็สามารถใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเพื่อเข้าข้างใครก็ได้

ในรอบที่ผ่านมาปี 2565 พอกระบวนการแบบนี้ออกมาก็มีคนไม่พอใจ
มีคนไปฟ้องร้องกันเหมือนที่ผมได้พูดไปจนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2566
ศาลปกครองได้ระบุในคำแถลงว่า “กระบวนการคัดเลือกไม่มีความโปร่งใสและยุติธรรมจะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ได้”

และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ผลลัพธ์ในรอบ 2565 ก็คือมีกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มเดียวได้รับเป็นผู้คัดเลือกสูงถึง 58% หรือ 3,000 MW จากการรับซื้อทั้งหมด 5,203 MW นี่อาจจะเป็นคำตอบของเหตุผลทั้งหมดว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่เปิดประมูลเรื่องราคา เวลาจะรับซื้อไฟฟ้าทำไมถึงกีดกันรัฐวิสาหกิจออกและทำไมถึงไม่มีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนสำหรับคัดเลือก ทั้งหมดก็เพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานใช่หรือไม่

ทั้ง ๆ ที่หลักเกณฑ์อันนี้มันมีมาปัญหามาตั้งแต่การคัดเลือกใน
รอบปี 2565 แต่รัฐบาลก็ยังคงเลือกที่จะเดินหน้ารับซื้อพลังงานสะอาด
จำนวนกว่า 3600 MW เหมือนเดิม โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับรอบ ปี 2565 ที่มีประเด็นปัญหาเหมือนเดิม

ประเด็นที่ 4 คือ จากการรับซื้อ 3,632 MW นี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 2,168 MW และกลุ่มที่ 2 คือ ที่เหลือกลุ่มที่เป็นปัญหา คือ กลุ่มแรก 2,168 MW ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกว่า ให้เฉพาะคนที่เคยผ่านการคัดเลือกรอบแรกเมื่อปี 2565 เท่านั้น เหมือนเป็นการล็อคมงไว้แล้วไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในการรับซื้อไฟฟ้าของกลุ่มนี้เลยด้วยซ้ำ

ในประเด็นนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ
กบง. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีการพูดถึงหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการซื้อ
ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบ 3600 MWนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านพลังงาน ได้มีการท้วงติงในเรื่องนี้ไปแล้วว่า การคัดเลือกรอบ 5,203 MW จบลงไปแล้ว ไม่ควรนำมาเกี่ยวกัน เพราะฉะนั้นการที่ ล็อกโควตาให้แค่เฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่เปิดให้ผู้เล่นใหม่เข้าร่วมด้วย
อาจเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้าร่วมรายอื่นๆ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

คำถามที่สำคัญในประเด็นนี้ก็คือ ทำไมในเมื่อมันมีการท้วงติงจากหน่วยงานอย่าง กกพ. แต่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานถึงยังเดินหน้ามติออกมาเพื่อล็อคโควต้าให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกไม่ยอมเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เข้าร่วม หรือที่รัฐมนตรีไม่ยอมฟังความเห็นของ กกพ. เพราะ รู้อยู่แล้วว่ากลุ่มทุนพลังงานไหนจะได้และต้องการล็อคโควต้าให้รายเดิม ใช่หรือไม่

ประการที่ 5 การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มอีกถึง 3,632 MWโดยไม่มีความจำเป็น ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ต้องการพลังงานสะอาดในประเทศ ประเทศเราจำเป็นต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหามันอยู่ที่วิธีการจัดหา ถ้าเป็นกระบวนการจัดหาแบบที่ผมพูดมาทั้งหมดว่า มันจะทำให้ภาระของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ไปซื้อไฟแพงมาก ๆ มาจากเอกชนหรือมาจากกลุ่มทุนพลังงาน กระบวนการแบบนี้ไม่ควรทำ

เรามีวิธีการแบบอื่นที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยไม่เป็นภาระต่อพี่น้องประชาชน อย่าง Direct PPA หรือการที่อนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง โดยจ่ายค่าเช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้า วิธีนี้ดีกว่า เพราะจะไม่เป็นภาระกับประชาชนผู้ผลิตไฟกับผู้ซื้อไฟเจรจาขายไฟกันเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องไปกำหนดราคาให้เขา ถ้าเจ้าของโรงไฟฟ้าอยากขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ หรือต่อให้ซื้อกันแพงมาก ๆ คนที่แบกรับต้นทุนก็คือผู้ประกอบการรายเดียว ไม่ใช่ประชาชน ซึ่ง Direct PPA นั้นสอดคล้องและตรงกับความต้องการของเอกชนที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากกว่า

มติ กพช. มิ.ย. 2567 ก็พึ่งอนุมัตินโยบาย Direct PPA ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ ถึง 2,000 MW เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอยู่แล้ว แทนที่รัฐจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจำนวน 3,632 MW เอง รัฐควรจะไปเพิ่มปริมาณสำหรับ Direct PPA แทนจาก 2,000 MW ก็เพิ่มเป็น 5,600 MW ดีกว่าตรงกับเป้าหมายมากกว่า ไม่เป็นภาระผู้บริโภค

ข้อพิรุธทั้ง 5 ข้อที่เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมปี 2567 จำนวนกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ราคารับซื้อที่แพงเกินไปจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชน หรือเป็นการกีดกันการแข่งขันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดพลังงาน รวมไปถึงรัฐบาลมีทางเลือกอื่นในการจัดหาพลังงานสะอาดเพิ่มเติม โดยไม่เป็นภาระของประชาชนอย่าง Direct PPA ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการยกเลิกการจัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 3,600 MW ในปี 67 นี้ ยกเลิกหรือหยุด

แม้ว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งรอบ 5,200 MW
หรือรอบใหม่ 3,600 MW จะเริ่มต้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามเงื่อนไขของการรับซื้อระบุชัดเจนว่า กพช. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นมีอำนาจในการยกเลิกการรับซื้อได้ก่อนการลงนามซื้อขาย
ไฟฟ้าหรือแม้แต่การออกมติใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อ กำหนดราคารับซื้อใหม่ที่เป็นธรรมก็สามารถทำได้ แต่รัฐบาลเศรษฐาก็ไม่ยอมทำอะไรก็เดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่ มีข้อพิรุธในหลายประการที่ได้กล่าวไป และรัฐบาลแพรทองธาร ก็กำลังจะสานต่อ ขบวนการค่าไฟแพงอีกครั้ง

ขณะที่ณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องที่อยากส่งไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งขบวนการที่พวกเราตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นขบวนการขูดรีดประชาชน เป็นขบวนฟอกเขียวเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจหรือไม่ ซึ่งต้องย้อนมาดูโจทย์ใหญ่ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 90 % ต่อ GDP ซึ่งมีหนี้สินสูงถึง 6 ล้านล้านบาท แต่เจ้าสัว 50 คนแรกรวยขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้กำลังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน

หัวหน้าพรรคฯ กล่าวอีกว่า พรรคประชาชนไม่ได้ค้านทุน ตราบใดที่กลุ่มสามารถส่งออกสินค้าและบริการที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศพวกเราสนับสนุนและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุดที่จะต้องสนับสนุนกลุ่มทุนเหล่านั้นให้เติบโตในเวทีโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ก็คือกลุ่มทุนที่เอารัดเอาเปรียบและสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน แล้วถ่างช่องว่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานก็เป็นกลุ่มทุนเหล่านั้นทำให้ประชาชนเสียค่าไฟที่แพงกว่าความเป็นจริง แต่เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นกลับกำลังไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว

สิ่งนี้เป็นที่พรรคก้าวไกลจนถึงพรรคประชาชนสื่อสารมาโดยตลอด คือ แผนพลังงานแห่งชาติมีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ถึง 49 % ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ยกตัวอย่าง ในเดือน กันยายนที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 ใน 13 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องการผลิต แต่ประชาชนทุกคนยังต้องเสียค่าไฟให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเหล่านั้นถึง 2,400 ล้านบาท หากลองหารจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย แปลว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาบ้านทุกหลังกำลังจะต้องเสียค่าไฟเกินกว่าความเป็นจริงเดือนละ 100 บาทต่อหลังเรือนไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวอย่างไม่มีความจำเป็น

ณัฐพงษ์​ กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลอยากสนับสนุนพลังงานสะอาดหรือสัญญาซื้อขายโดยตรงสามารถทำได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้สัญญาสัมปทานที่ไม่มีการประมูลแบบนี้ ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกกำลังรับซื้อพลังงานสะอาดที่ถูกกว่า แต่รัฐบาลไทยกลับกำลังมอบสัมปทานให้กับเจ้าสัวกลุ่มทุนพลังงานในประเทศ​ ยกตัวอย่างในพลังงานแสงอาทิตย์ ตอนนี้ กฟผ.มีโครงการโซล่าลอยน้ำที่ผลิตได้ที่ต้นทุนหน่วยละ 1.50 บาท แต่ กกพ.กลับให้รัฐบาลรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท แพงกว่ากันถึงหน่วยละ 70 สตางค์

“นี่คือสิ่งหนึ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในปัจจุบันกำลังใช้นโยบายของรัฐในการให้สัมปทานที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มหรือไม่”

หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกว่า เราได้คำนวณออกมาว่า เฉพาะ 3,600 MW จะทำให้ประชาชนต้องรับซื้อพลังงานเกินจริงถึง 4,162 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นตลอดอายุสัมปทาน 25 ปีจะเป็น 104,050 ล้านบาท ถ้านายกฯ ไม่ออกมาหยุดยั้งขบวนการที่สูบเลือดสูบเนื้อประชาชนแบบนี้ อีก 25 ปีข้างหน้า คนไทยจะมอบเงินออกกระเป๋าที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวอย่างไม่มีความจำเป็น

สำหรับ 5,200 MW ซึ่งสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว เราได้คำนวณเฉพาะในส่วนของไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ก็เกิดความเสียหายไปแล้ว 9 หมื่นกว่าล้านบาทตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 25 ปี

ส่วน 3,600 MW อีกแสนกว่าล้านเรายังสามารถหยุดยั้งได้ อยู่ที่เจตจำนงค์และการใช้อำนาจที่ถูกต้องของรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงนายกฯ ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะขบวนการเกิดขึ้นตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ส่งผ่านมายังรัฐบาลเศรษฐาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ซึ่งพวกเราได้อภิปรายเรื่องนี้ต่อ นายกฯ ในการแถลงงบประมาณไปแล้ว นายกฯ ก็อยู่ ดังนั้นจึงปฏิเสธว่า ไม่รับรู้ไม่ได้ และอยากย้ำอีกครั้งว่า นายกฯ เป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งขบวนการนี้

“นายกฯ สามารถหยุดยั้งขบวนการสูบเลือด สูบเนื้อประชาชนได้ทันที ข้อแรก อยากให้ยกเลิกการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ยุติการดำเนินการสัมปทานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,200 MW ส่วนที่สอง คือ สัญญาสัมปทาน 5,200 MW ไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 2,000 MW ที่ยังไม่เซ็นสัญญาลงนามให้เริ่มการรับซื้อไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้า”

ซึ่งตามเงื่อนไขของ กพช. ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีการเซ็นสัญญาเป็นอำนาจเต็มของ กพช.ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกโครงการได้ ดังนั้นตนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงอยากจะส่งต่อข้อเรียกร้องให้ดำเนินการทั้งสองข้อนี้โดยเร็ว

“พรรคประชาชนอยากจะเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันติดตามวาระนี้อย่างจริงจัง ให้เป็นวาระทางสังคมเพื่อยุติกระบวนการแสนกว่าล้านบาท อย่าให้ขบวนการแบบนี้เดินหน้าต่อไปอีก ทั้งนี้พรรคยินดีเป็นเจ้าภาพให้เอกชนที่เสียประโยชน์จากการเข้าร่วมขอรับสัมปทานและมีการกีดกันการประมูล ถ้าเสียประโยชน์สามารถติดต่อมาที่พรรคประชาชน เพื่อฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อยุติขบวนการนี้อย่างถึงที่สุด”