ทำไมเรายังคิดว่ามีระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด?

ทำไมเรายังถามหาระบบระเลือกตั้งที่ดีสุด ทั้งๆ ที่มันไม่มี เพราะระบบเลือกตั้งที่ถูกคิดมาใช้ในโลกนี้นั้นมีทั้งข้อดีและข้อด้อยในตัวมันเอง

ดังนั้นคำว่า ‘ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด’ ก็อาจจะเป็นคำพูดที่นักการเมืองใช้หลอกตัวเองหรือหลอกประชาชนอยู่ก็ได้

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 40 จนถึงปี 64 มีการเลือกตั้งมาทั้งหมด 5 ครั้ง และใช้ระบบเลือกตั้งทั้งหมด 4 ระบบ ราวกับว่าเรากำลังเสาะหาระบบเลือกตั้งที่เป็นยิ่งกว่าพระเบญจภาคี

และอาจจะต้องตั้งคำถามกันเสียทีว่า ความพยายามในการออกแบบหรือเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเกือบจะทุกครั้งนั้นเป็นความพยายามในการออกแบบเพื่อใคร

เพราะการออกแบบระบบการเลือกตั้งนั้นถือเป็นการกระทำที่มีเป้าหมาย คือการแก้โจทย์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองของประเทศ เป็นความต้องการให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปในแบบใดแบบหนึ่งอยู่เสมอ สำหับประเทศไทยกับ 4 ระบบเลือกตั้งที่มีมานั้น คงต้องยอมรับว่าที่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ผลดังใจ หรือบางครั้งผลก็ออกมาเลยธงที่ตั้งไว้

แต่จะว่าไป ถ้าจะมาประเมินว่าระบบการเลือกตั้งที่ประเทศไทยใช้ไปนั้นให้ผลดีหรือด้อยอย่างไร เราก็อาจจะมองผ่านตัวเลข 4 ตัว ด้วยกัน

แต่ก่อนจะไปถึงตัวเลขที่ว่านั้น คงต้องให้ฐานคิดของการคำนวณว่ามาจากสิ่งสำคัญ 2 สิ่งของการเลือกตั้งคือ จำนวนคะแนนเสียง กับ จำนวนที่นั่งในสภา ซึ่งค่าตัวเลขทั้ง 2 จะถูกใช้คิดตัวเลขของการประเมิน

ในทางรัฐศาสตร์ ตัวเลขที่ถูกใช้ประเมินคือ (1) จำนวนพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง (2) ค่าสัดส่วนของคะแนนเสียงกับที่นั่งในสภา (3) จำนวนพรรคที่น่าจะชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ (4) จำนวนพรรคที่มีบทบาทในสภา

ค่าจำนวนพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง คือ ตัวเลขพื้นฐานที่บอกว่า ระบบเลือกตั้งนั้นทำให้เราได้พรรคเยอะหรือพรรคน้อยในการเมือง เพราะบางระบบการเลือกตั้งโดยตัวมันเองสามารถทำให้เกิดระบบพรรคที่มีน้อยพรรคในสภา บางระบบก็ทำให้เกิดระบบแบบหลายพรรค

ค่าสัดส่วนของคะแนนเสียงกับที่นั่งในสภา (เปอร์เซ็น) เป็นตัวเลขแรกที่เราจะใช้ประเมินได้ว่า ระบบเลือกตั้งนั้นๆ ใช้ได้หรือไม่

เพราะการเลือกตั้งคือการเปลี่ยนจำนวนคะแนนเสียงให้กลายเป็นที่นั่งในสภา ดังนั้นระบบที่ใช้ได้จะต้องทำให้สัดส่วนของเสียงกับที่นั่งได้พอๆ กัน หรือ ที่เรียกว่าได้สัดส่วน นั่นคือ คนเลือกเยอะต้องได้ที่นั่งเยอะ คนเลือกน้อยก็ได้ที่นั่งน้อย หรือ คนเลือกเท่าไหร่ ก็ต้องได้เท่านั้นในภาพรวม

แต่เอาเข้าจริงๆ บางระบบก็ทำได้ไม่ดีกับเรื่องของค่าสัดส่วนนี้

จำนวนพรรคที่น่าจะชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือตัวเลขที่บอกว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจากพรรคที่อยู่ในสภาวันนี้ จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งกี่พรรค เป็นตัวเลขที่คิดจากสูตรการเอา คะแนนเสียงกับจำนวนที่นั่งของทุกพรรคมาเข้าสูตร

สุดท้าย จำนวนพรรคที่มีบทบาทในสภา คือ ตัวเลขที่บอกว่าจากจำนวนพรรคที่มีในสภา เอาเข้าจริงมีอิทธิพลในการทำงานสภากี่พรรคแน่ๆ

ตัวเลขทั้งหมดในภาพประกอบ ก็ทำให้เราเห็นว่า ตอนเลือกตั้งปี 39 กับระบบเสียงข้างมาก (เขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส. 393 คน) ผลที่เกิดขึ้นคือ มีค่าสัดส่วนของที่นั่งกับสภาไม่ได้สูง เท่ากับว่า คนเลือกแต่ละพรรคไปเท่าไหร่ก็ได้เสียงไปเท่านั้น แต่ที่หลายคนมองเป็นปัญหาคือ พรรคการเมืองในสภามีมาก การตั้งรัฐบาลแบบผสมที่เสถียรภาพน้อย และค่าจำนวนพรรคการเมืองทั้ง 2 ค่าก็แสดงให้เห็นว่า พรรคในสภาอีก 6-7 พรรค ไม่มีบทบาทและโอกาสทางการเมืองเท่าไหร่

ปี 44 (ระบบผสมเสียงข้างมาก ส.ส. 500 คน แบบแบ่งเขต 400 แบบบัญชีรายชื่อ 100 บัญชีเดียว แยกคำนวณที่นั่ง) เป็นระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อการเมืองที่เข้มแข็ง มุ่งสู่การได้ 2 พรรคใหญ่ในสภา

ผลที่ได้ ตัวเลขจำนวนพรรคก็ลดลงมาจนเกือบจะเป็นที่น่าพอใจ แม้จำนวนพรรคจะยังมาก แต่ถึงแม้ค่าสัดส่วนจะสูงกว่าการเลือกตั้งครั้งเก่าเกือบ 5 เท่า แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาเพราะสิ่งที่มากับระบบเลือกตั้งผสมเสียงข้างมากแบบนี้คือ ความไม่ได้สัดส่วน

ปี 48 ระบบเลือกตั้งแบบปี 44 ผลที่ได้ต้องบอกว่า สมใจของผู้ร่างในที่สุด เพราะจำนวนพรรคที่มีบทบาทคิดมาแล้วได้ไม่ถึง 2 คือ มีพรรคใหญ่มากอยู่หนึ่งพรรค ที่เหลือไม่มีบทบาท ค่าสัดส่วนถึงสูงก็ไม่ได้เป็นปัญหา

หรือต้องบอกว่าเลยธงหรือไม่ เพราะในปี 49 ก็เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น

.

การเลือกตั้งปี 50 กับ ระบบเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง (ระบบผสมเสียงข้างมาก ส.ส. 480 คน แบบแบ่งเขต 400 แบบบัญชีรายชื่อ 80 แบ่ง 8 กลุ่มจังหวัด แยกคำนวณที่นั่ง) มองได้ว่าระบบนี้ยังคงมุ่งสู่การมีพรรคให้มากขึ้น ลดขนาดของพรรคไม่ให้ใหญ่เกินไป

ผลที่เกิดขึ้นจากตัวเลขการประเมินก็เห็นว่า มีความต่างที่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่ก็อาจไม่ดีพอ เพราะก็มีการปรับเล็กกับระบบการเลือกตั้งอีก ในการเลือกตั้งปี 54

ปี 54 ใช้ระบบเลือกตั้งระบบผสมเสียงข้างมาก ส.ส. 500 คน แบบแบ่งเขต 375 แบบบัญชีรายชื่อ 125 บัญชีเดียว แยกคำนวณที่นั่ง ผลที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ต่างจากการเลือกตั้งปี 50 มากนัก แต่ความต่างที่ชัดคือ ค่าการได้สัดส่วนที่ลดลงที่ตีความได้ว่า คนเริ่มจะเลือกที่พรรคเพิ่มขึ้น

การเลือกตั้งปี 62 กับระบบเลือกตั้งแบบที่ 4 ในรอบ 20 กว่าปี ปรากฎในชื่อระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มี ส.ส. 500 คน แบบแบ่งเขต 350 แบบบัญชีรายชื่อ 150 บัญชีเดียว คำนวณที่นั่งจากฐานคะแนนบัญชีรายชื่อและใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

แม้ความคาดหวังที่ผู้ออกแบบได้บอกว่าระบบนี้จะให้พรรคที่มาก แต่ผลการเลือกตั้งที่ได้คือ เรามีพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากถึง 26 พรรค มากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีมา

จำนวนพรรคการเมืองทั้ง 2 แบบมีความคล้ายกับผลการเลือกตั้งปี 39 ที่ พรรคในสภามาก แต่บทบาทหรือโอกาสในทางการเมืองนั้นมีน้อย

แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของการเลือกตั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า คนไทยที่ไปเลือกตั้งนั้น มีแนวโน้มการไปเลือกพรรคมากขึ้นจากค่าสัดส่วนที่ลดลง

อีกข้อสำคัญที่จะพูดถึงคือ จากค่าตัวเลขทั้งหมดที่นำเสนอเพื่อเป็นการประเมินค่าของระบบการเลือกตั้งที่ไทยเราใช้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็จะเห็นว่า ในแต่ละระบบนั้น ก็ให้ค่าที่แตกต่างกันออก ไม่ได้มีระบบไหนดีเด่นกว่าระบบอื่น

แต่ทุกระบบถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองบางอย่าง ณ ขณะนั้น การเมืองยังคงไม่เปลี่ยน ระบบพรรคการเมืองยังเป็นแบบเดิม สูงด้วยปริมาณแต่คุณภาพยังคงต้องตั้งคำถาม

ที่สำคัฐการออกแบบในแต่ละครั้ง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าไหร่ นักการเมืองมักพูดว่า การร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง คนที่ร่างนั้นไม่ได้ใช้ และคนที่ใช้ไม่ได้ร่าง

ถึงวันนี้ ร่าง การแก้ไข รธน. 60 ในส่วนระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นผู้เสนอแก้ไขเอง เราก็เห็นแล้วว่า การถกเถียงถึงระบบการเลือกตั้งที่ดีนั้น คือ ต้องย้อนถามว่าดีกับใครกับประชาชนหรือกับพรรค

.

สุดท้ายต้องบอกว่าคนใช้จริงๆ คือ ประชาชนที่ไม่ได้ทำ แต่ต้องรับกรรมจากระบบที่ถูกออกแบบที่ดีสำหรับพรรคการเมือง แต่อาจไม่ได้ดีที่สุดกับประเทศและประชาชนเลย

วิเคราะห์โดย The NewsXtra Team