ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้มีโอกาสอ่านข่าวผ่านตาเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนลุกขึ้นมาผลักดันนโยบายเพื่อการปฏิรูปสังคม การศึกษาและเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการเข้าไปจัดระเบียบวงการบันเทิงของจีน การห้ามจัดแข่งขันไอดอล การลงดาบบรรดาดาราที่ออกนอกลู่นอกทาง หรือการสั่งปิดแอคเคาท์แฟนคลับของบรรดาไอดอลกลุ่มต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีมาตรการจำกัดระยะเวลาในการเล่นเกมและเข้าถึงสื่อบันเทิงของเยาวชน ตลอดจนการจัดระเบียบระบบการเรียนพิเศษภายในประเทศครั้งใหญ่
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการ ลดสอบ ลดการบ้าน และเพิ่มเวลาอิสระให้นักเรียนมากกว่า ที่สำคัญคือเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่จีนบรรจุ “แนวคิดสีจิ้นผิง” ลงไปในแบบเรียนของกระทรวงศึกษา
การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลจีนนำมาซึ่งคำถามมากมายจากคนภายนอกว่า ลักษณะเช่นนี้คือความพยายามของจีนในการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหม่หรือไม่
หากพิจารณาโดยภาพรวมจริง ๆ แล้วอาจต้องบอกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจีนเวลานี้นั่นค่อนข้างแตกต่างอย่างมากจากการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ยุคของประธานเหมา เจ๋อตง
เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำคือการเข้าไปจัดระเบียบบนพื้นฐานของกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่แล้ว เพียงบังคับใช้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
เช่นการจัดระเบียบวงการบันเทิงและบรรดาแฟนคลับ ซึ่งถูกวิจารณ์จากสังคมจีนมาอย่างต่อเนื่องถึงพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามบุคคลอื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงดาราและเซเลบหลายคนเองก็มีการละเมิดกฎหมายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นทางด้านภาษี
ในขณะที่การลดการเข้าถึงสื่อบันเทิงและเกมของเยาวชนนั้นก็เป็นกระแสเรียกร้องของพ่อแม่ชาวจีนมาอย่างต่อเนื่อง และนโยบายนี้ก็เคยใช้มานานเพียงแค่ลดเวลาจากเดิมเพื่อให้เยาวชนนำเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น
สำหรับการเข้าไปจัดการระบบการศึกษาและการเรียนพิเศษก็เป็นผลมาจากความพยายามที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้คนจีนมีลูกมากขึ้น ซึ่งต้นทุนการศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจีนจำนวนมากตัดสินใจไม่มีลูกเพิ่ม
หามองมาถึงจุดนี้ก็อาจมองได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนทำก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการออกนโยบายของประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะชาวชนบทที่เป็นฐานเสียงที่สำคัญของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคนเหล่านี้เล็งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่มากขึ้น ผ่านมิติทางสังคมและการศึกษา
ในขณะที่ลูกหลานคนร่ำรวยจำนวนมากมีเงินเหลือเฟือจนสามารถระดมทุนสนับสนุนไอดอล หรือซื้อนมมาเททิ้งเพื่อเอาโค้ดไปโหวตดาราที่ชื่นชอบ ซึ่งแทบจะตรงกันข้ามกับลูกหลานของคนในชนบท
ลักษณะเช่นนี้ล้วนสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น ซึ่งการลุกขึ้นมาจัดระเบียบที่กำลังเกิดขึ้นในจีนนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการสร้างสังคมจีนที่ดีขึ้น ในอีกด้านก็คือการรักษาความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์ในการปกครองประเทศจีนนั่นเอง