ไก่ ทหาร หนุมาน จอมพล: สัญญะเก่าหรือใหม่ทางการเมือง?

กระบวนการสร้างตัวตน ภาพลักษณ์ (branding) ในทางการเมือง ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอื่นใด โดยถึงแม้แต่ละบุคคลจะมีรูปแบบ วิธีการที่แตกต่างกันแต่เป้าหมายหลักของการประกอบสร้างนั้นก็เพื่อให้ผู้คนจดจำหรือระลึกถึงผลงานในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งและเพื่อแสดงถึงอำนาจบารมีทางการเมือง ในอดีตมักจะพบเห็นผ่านการนำปีนักษัตรมาเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเอง หรือ การนำเอาฉายาซึ่งสื่อมวลชนตั้งให้เป็นภาพลักษณ์ ภาพจำตัวเอง หรือรูปแบบอื่นอันแสดงให้เห็นเป็นลักษณะเฉพาะ

อย่างไรก็ดี การนำเอาปีนักษัตร สิ่งซึ่งทุกคนมีติดตัวตั้งแต่เกิดมาเป็น branding ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถนำมาใช้ได้เลยจำต้องอาศัยสถานการณ์และอำนาจซึ่งมีแต่ทุนเดิมเข้าช่วย ในอดีตมักพบเห็นในตัวผู้นำหรือผู้มีอำนาจนำในสังคมการเมือง เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งทั้งสามเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากแต่ในปัจจุบันกลับปรากฏขึ้นในการสร้างตัวตนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสังคมการเมืองในขณะนี้

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจรูปแบบและการใช้สัญลักษณ์เพื่อระบุตัวตนทางการเมืองของบุคคลทั้ง 4 ท่าน ดังจะได้กล่าวในลำดับถัดไป

“จอมพลตราไก่” กำเนิดชาตินิยมผ่านตัวตนและวาทกรรม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างตัวตนของตนผ่านสัญลักษณ์ตราไก่ในครั้งแรกของการบริหารประเทศโดยการสร้างตราเป็นปีนักษัตร (ปีระกา) ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีลักษณะแสดงให้เห็นชัดหลังรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามสามารถเอาชัยจากสงครามอินโดจีนและได้รับดินแดน พระตะบอง ส่วนหนึ่งของเสียมราฐ จำปาศักดิ์ และฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน หลังสูญเสียให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บทบาทของจอมพล ป. ดำเนินแนวทางชาตินิยมและลัทธิผู้นำมากยิ่งขึ้น ดังคำให้การในคดีอาชญากรสงครามของ ขุนศรีศรากร ในตอนหนึ่งว่า “…ตอนต้นจำเลย (หลวงพิบูลสงคราม) บริหารราชการดีมาก ฟังความคิดเห็นของเพื่อนฝูง คณะรัฐมนตรีกลมเกลียวกันดี แต่เมื่อได้ดินแดนคืนแล้วจำเลยเป็นจอมพล ทำอะไรโดยพลการ ไม่ฟังความเห็นของเพื่อนฝูง…” ความปรากฏดังนั้นนอกจากแสดงให้เห็นจากนโยบายสร้างชาติและวาทกรรม “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” แล้ว ยังตามมาด้วยการสร้างตราสัญลักษณ์ของจอมพลประดับในทั่วทุกหนแห่ง กล่าวคือ มีการติดรูปจอมพลหรือแม้กระทั่งรูปตราไก่ขาวกางปีก ซึ่งมีตราสัญลักษณ์สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือ และเวลาจอมพล ป. ไปตรวจเยี่ยมราชการที่ใดก็มักมีตราดังกล่าวปรากฏ

นอกจากนี้ยังปรากฏให้เห็นในรูปแบบของตราประจำจังหวัดพิบูลสงครามและอนุสาวรีย์ในฐานะอนุสรณ์แก่การได้ดินแดนกลับคืนมาในปี 2484 อีกด้วย ไม่เพียงแต่เท่านั้น รูปลักษณ์ดังกล่าวยังปรากฏในงานสถาปัตยกรรมของทำเนียบรัฐบาลในรูปแบบของปูนปั้นรูปหัวไก่ประดับอยู่ตรงชายคารับพื้นระเบียงของอาคารภายในตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมในสมัยจอมพลเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งปรากฏให้เห็นในช่วงสมัยของการขึ้นสู่อำนาจครั้งใหม่ของจอมพลอันมีพรรคเสรีมนังคศิลา (ตราประจำพรรคมีไก่เป็นสัญลักษณ์) ซึ่งเป็นพรรคของตนในการลงสู่สนามเลือกตั้งในปี 2500

อนึ่ง ตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่อย่างถ้วนทั่วนั้นสอดรับกับลัทธิผู้นำเป็นอย่างยิ่งซึ่งไม่เพียงแสดงถึงการสร้างชาติแต่ยังแสดงถึงอำนาจนำ บารมีในสังคมที่ผู้คนให้ความเคารพและเชื่อฟังในนโยบายรัฐที่ออกมาแต่ยังแสดงให้เห็นถึงบุคคลผู้มีความใกล้ชิดกับจอมพลและได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งและมีอำนาจดังเช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในเวลาต่อมา

“นายทหารปีวอก”

ภายหลังการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี 2500 และการปราบปรามขั้วอำนาจการเมืองอย่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เสร็จสิ้น บุคคลที่ขึ้นมามีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองหลังจากนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยเมื่อแรกรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ยังคงรักษาความต่อเนื่องของธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 เพื่อคงสภาพทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวและต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2500 และเมื่อเห็นว่ายังไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากจึงดำเนินการให้พรรคสหภูมิ พรรคของน้องต่างบิดาของจอมพลสฤษดิ์รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาอยู่ในกลุ่มพรรคใหม่ที่มีชื่อว่าพรรคชาติสังคมซึ่งจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค

โดยจอมพลสฤษดิ์พยายามสร้างรูปสัญลักษณ์ของตนเหมือนครั้งที่จอมพล ป. กระทำเช่นเดียวกัน ผ่านการใช้รูปหนุมานกลางหาวเป็นสัญลักษณ์เนื่องจากตนเกิดปีวอก ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งพรรคชาติสังคมประสบปัญหาความแตกแยกในพรรครวมถึงความนิยมของพรรคตกต่ำจนจอมพลถนอมยากที่จะควบคุมได้ จอมพลสฤษดิ์จึงถือโอกาสเข้ารัฐประหารและเป็นที่มาของระบอบการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมในขณะนั้น ถึงขนาดหนังสือพิมพ์ “อิสระ” บัญญัติคำเรียกจอมพลสฤษดิ์ว่า “ไอ้ลิงม้ามแตก”, “ไอ้ลิงบ้ากาม” และ “ไอ้พวกชาติสังคัง” นอกนี้สัญลักษณ์หนุมานของจอมพลยังปรากฏอยู่ในช่วงสมัยการสร้างธุรกิจโรงเบียร์ ซึ่งเป็นแห่งที่สองของประเทศ ในปี 2504 โดยมีสัญลักษณ์เป็นเบียร์ยี่ห้อหนุมานและแผนที่ แต่ไม่ได้รับความนิยมนักและเลิกกิจการไป

ขณะเดียวกันยังปรากฏสัญลักษณ์ดังกล่าวในอีกช่วงของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้ฝากสัญลักษณ์ของตนไว้กับผลงานสมัยตนเป็นรัฐบาล คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) อันแสดงถึงความผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะหนุมาน นายทหารเอกของพระรามหรือพระนารายณ์อันเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์

“เสื้อตราไก่ รวมพลังประชารัฐ”

เป็นระยะเวลานานเกือบครึ่งศตวรรษกับการสร้างภาพจำผ่านปีนักษัตรและเป็นครั้งแรกที่ปรากฏอีกครั้งในปัจจุบันโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนายทหารอีกคนหนึ่งที่เกิดในปีนักษัตร ระกาหรือไก่ และได้มีการใช้สัญลักษณ์ของตนแสดงผ่านการมอบสิ่งของในวันปีใหม่หรือวันเกิดให้กับบุคคลผู้ใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาตั้งโต๊ะ ผ้าขนหนู สมุด ปากกา และเสื้อแจ็กเก็ต

ทั้งนี้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงนัยยะทางการเมืองในลักษณะของความเป็นกลุ่มทางการเมือง (teamwork) ในพรรคภายหลังที่มีกระแสความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นและแสดงออกผ่านสื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 หลังจากที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณลงพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้แสดงสัญลักษณ์ถึงความใกล้ชิดและความเป็นกลุ่มเดียวกันผ่านการสวมเสื้อแจ็กเก็ตตราสัญลักษณ์ของพลเอกประวิตรไม่ว่าจะเป็น เสื้อตราไก่ หรือเสื้อตรา สร.2

อย่างไรก็ตาม การแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นรูปแบบเป้าหมายที่ต่อเนื่องเพื่อแสดงถึงอำนาจและบารมี อย่างเช่นในสมัยจอมพล ป. หรือเป็นเพียงการแสดงถึงการรวมกลุ่มทางการเมืองในระยะเวลาอันสั้นเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรค ยังคงเป็นคำถามซึ่งรอคำตอบเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป

การสร้างภาพจำโดยอาศัยการใช้สัญลักษณ์เป็นปีนักษัตรจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบเห็นในหมู่ของนักการเมืองซึ่งเป็นทหารเป็นหลัก ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งนี้การใช้สัญลักษณ์แต่ละครั้งขึ้นอยู่สภาพการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันในขณะนั้นเป็นประกอบ

ดังเช่น ในสมัยจอมพล ป. เป็นการใช้เพื่อแสดงอำนาจนำและบารมีอย่างทั่วทุกพื้นที่ในการแสดงเป็นรูปเคารพหรือเครื่องหมายเพื่อสอดรับวาทกรรมการสร้างชาติ ขณะที่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นการแสดงถึงเครื่องหมายของตนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ซึ่งมิได้สร้างอำนาจบารมีผ่านสัญลักษณ์มากนัก และสมัยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับใช้แสดงถึงการรวมกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงความเป็นกลุ่มเดียวกันและแสดงถึงบารมีในทางการเมืองในยุคปัจจุบัน

อ้างอิง

โดม ไกรปกรณ์. เครื่องดื่มแบบตะวันตกในฐานะสื่อสร้างอัตลักษณ์ “คนสมัยใหม่” ในสังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 4-7. : ในวารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 40 ฉบับสิงหาคม 2558 – กรกฎาคม 2559.

เทียมจันทร์ อ่ำแหวว, “บทบาททางการเมืองและการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2487)”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์, 2521

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพฯ: พีเพรส, 2550

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย, กรุงเทพฯ: พีเพรส, 2551

อิทธิเดช พระเพ็ชร, “ย้อนประวัติศาสตร์: เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเป็น “หัวหน้าพรรค และนักการเมือง,” ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2018/10/79114