“คนคอน” ในการเมืองไทย


หากกล่าวถึง “ชาวนครศรีธรรมราช” หรือที่ใครหลายคนเรียกกันติดปากว่า “คนคอน” ก็มักจะมีภาพจำที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน และแม้ว่า “คนคอน” จะกระจายกันไปในแวดวงต่าง ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในแวดวงการเมืองไทยนั้น คนคอนมีความโดดเด่นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับ 10 คนคอน ในการเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1. ครูฉ่ำ จำรัสเนตร – อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช 5 สมัย มีบทบาทโดดเด่นในช่วงปี พ.ศ. 2480 – 2500 ครูฉ่ำมักจะสร้างสีสันให้การเมืองในสมัยนั้นอยู่เสมอ อาทิ ในช่วงเลือกตั้งครูฉ่ำได้นำเงินไปฝากนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ เมื่อมาหาเสียงที่นครศรีธรรมราช ครูฉ่ำได้ส่งโทรเลขหานายปรีดี ให้ส่งเงินให้ตนโดยด่วน เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ชาวบ้านต่างคิดว่าครูฉ่ำนี้เป็นบุคคลสำคัญขนาดที่นายปรีดีต้องส่งเงินมาให้ หรือในยุคหนึ่งครูฉ่ำได้ขี่ควายเข้าสภา เพื่อแสดงออกว่าตนเองสนับสนุนให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนา ด้วยพฤติกรรมพิสดารต่าง ๆ นี้เอง ทำให้ครูฉ่ำถูกมองว่าเป็น “ผู้แทนคนบ้า”

2. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ – อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และเป็นคู่สมรสของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ดังนั้น นายสมชายจึงมีสถานะเป็นน้องเขยของดร.ทักษิณ เส้นทางการทำงานของนายสมชายนั้นเริ่มที่กระทรวงยุติธรรม และเติบโตมาตามลำดับจนได้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และได้ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ก่อนจะลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2550 และเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากนั้นเป็นต้นมา โดยครั้งแรกนายสมชายได้เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อยอดมาจากพรรคไทยรักไทย เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พ้นจากตำแหน่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้นายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย ทว่าในช่วงที่นายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องเผชิญกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และติดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ส่งผลให้นายสมชายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันมีบทบาททางการเมืองร่วมกับพรรคเพื่อไทย

3. นายสุธรรม แสงประทุม – อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช และยังเป็นอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งทำให้นายสุธรรมถูกจำคุก 2 ปี จากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 นายสุธรรมได้เป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช สมัยแรก ในสังกัดพรรคก้าวหน้า นอกจากนี้ นายสุธรรมยังถือเป็น 1 ในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2541 และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ในช่วงรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบัน นายสุธรรมยังคงมีบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย

4. นายวิทยา แก้วภราดัย – อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช เป็นผู้ที่เข้าร่วมการต่อสู้ของนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามในเหตุการณ์ดังกล่าว นายวิทยาเป็น ส.ส. สมัยแรกในสังกัดพรรคก้าวหน้า เมื่อปี พ.ศ. 2531 พร้อมกับนายสุธรรม แสงประทุม ก่อนที่จะเติบโตในเส้นทางที่แตกต่างกัน โดยนายวิทยาได้เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายสุธรรมเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายวิทยาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2552 ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2557 นายวิทยาเป็น 1 ในแกนนำของกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 นายวิทยาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ

5. นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ – อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช แต่ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองนั้น นายสุรินทร์เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้เข้าร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในเขต 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกัน 8 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2535 – 2538 ในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (สมัยที่ 1) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2544 ในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (สมัยที่ 2) บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของนายสุรินทร์ นั่นคือ การดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2556 ซึ่งเป็นคนไทยคนที่สอง ที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หลังจากที่หมดวาระเลขาธิการอาเซียนแล้ว นายสุรินทร์ยังคงร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตลอด จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

6. นายเทพไท เสนพงศ์ – อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช และยังเป็นอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นผู้ช่วย ส.ส. ของนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ครั้งที่นายชำนิยังอยู่พรรคพลังธรรม จนกระทั่งนายชำนิย้ายมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 และได้รับเลือกตั้งติดต่อกัน 4 สมัย นายเทพไทมีบทบาทสำคัญทั้งในพรรคประชาธิปัตย์และในสภาผู้แทนราษฎร อาทิ เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ในปี พ.ศ. 2562 นายเทพไทได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และเป็นบุคคลแรกที่ได้ผลักดันให้มีการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบัน นายเทพไทพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี กรณีทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2556

7. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ – อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โดยนายณัฐวุฒิเริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยสังกัดพรรคชาติพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกครั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย ซึ่งทั้ง 2 ครั้งนี้นายณัฐวุฒิไม่รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งมีการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นายณัฐวุฒิเริ่มมีบทบาทมากขึ้นผ่านการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร กระทั่งพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2551 นายณัฐวุฒิมีบทบาทในฐานะโฆษกรัฐบาล แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในปลายปี พ.ศ. 2551 นายณัฐวุฒิมีบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552 และปี พ.ศ. 2553 จนกระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 นายณัฐวุฒิได้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

8. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ – นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีบทบาทมาตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยนายสุรชัยถือเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และต่อมานายสุรชัยได้รับโทษประหารชีวิต แต่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษในภายหลัง จากนั้นนายสุรชัยได้เข้าสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในนามพรรคความหวังใหม่และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งลงสมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ อาทิ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช นายก อบจ. นครศรีธรรมราช ซึ่งนายสุรชัยไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 นายสุรชัยเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และร่วมกับกลุ่ม นปช. จนกระทั่งปี พ.ศ. 2552 นายสุรชัยได้แยกมาจัดตั้งกลุ่มแดงสยาม ร่วมกับนายจักรภพ เพ็ญแข โดยจะไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่ม นปช. และหลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายสุรชัยได้เดินทางออกนอกประเทศและเคลื่อนไหวผ่านทางช่อง YouTube จนกระทั่งปี พ.ศ. 2561 นายสุรชัยได้หายตัวไปอย่างลึกลับ

9. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข – นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีบทบาทมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จากนั้นมีบทบาทในภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับกลุ่มแรงงานเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2549 นายสมศักดิ์ถือเป็น 1 ในแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นแกนนำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวช่วงปี พ.ศ. 2551 ในฐานะแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ เช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นายสมศักดิ์ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ก่อนจะลาออกเพื่อเปิดทางให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา และนายสมศักดิ์ได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งเมื่อนายสนธิลาออกจากหัวหน้าพรรค ต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 กลุ่มพันธมิตรฯ แนวทางว่าจะไม่ประสงค์ลงคะแนน ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ที่มีนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรคมีมติว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่อมานายสมศักดิ์ประกาศถอนตัวจากการเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยระบุว่าเป็นไปตามมติของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ก่อนที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะประกาศยุติบทบาทลงในปี พ.ศ. 2556

10. นายสนธิญา สวัสดี – เป็นอดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนใต้ (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2554 ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 นายสนธิญาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในเขต 1 จังหวัดสมุทรสาคร ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย และในปี พ.ศ. 2563 นายสนธิญาได้ลงสมัครเป็น นายก อบจ. สมุทรสาคร ในนามกลุ่มประชารัฐสมุทรสาคร แต่ทั้งหมดนี้นายสนธิญาไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย บทบาทของนายสนธิญาเริ่มโดดเด่นมากขึ้นเมื่อมีการร้องเรียนบุคคลต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย อาทิ การแจ้งความดำเนินคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การแจ้งความดำเนินคดีนายจตุพร พรหมพันธุ์ การยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบพิมรี่พาย การยื่นยุบพรรคไทยสร้างไทย การยื่นถอนประกันแกนนำกลุ่มราษฎร จนกระทั่งถึงการยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบศิลปิน ดารา และผู้มีชื่อเสียง ที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง