ภูฏานถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางด้วยสายสัมพันธ์ทางด้านราชวงศ์ของทั้ง 2 ประเทศที่โดดเด่นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาหิมาลัย และถูกขนาบด้วยประเทศขนาดใหญ่อย่างอินเดียและจีนแห่งนี้มักถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งความสุข
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะภูฏานเป็นไม่กี่ประเทศบนโลกที่ไม่ใช้มาตรวัดทางด้านเศรษฐกิจโดยใช้ GDP เป็นหลัก แต่กลับเลือกใช้มาตรวัดของตัวเองที่เรียกว่าดัชนีชี้วัดความสุขแห่งชาติ หรือ Gross National Happiness (GHN)
อย่างไรก็ตามเรื่องราวและเรื่องเล่าต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นความจริงบางส่วนที่เรารับรู้กันเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ดินแดนแห่งนี้ก็มีปัญหาความขัดแย้ง และบางช่วงบางเวลาก็ไม่ได้มีความสุขอย่างที่พวกเราคิด
โดยเฉพาะในช่วงยุคทศวรรษที่ 1980-1990 ภูฏานมีปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์อย่างหนัก จนเป็นเหตุให้มีผู้คนอพยพลี้ภัยการต่อสู้จำนวนมากเป็นหลักแสนคน ซึ่งอาจต้องเล่าอย่างนี้ว่า ภูฏานนั้นประกอบไปด้วย 3 ชาติพันธุ์หลักคือ
1. งาโรป กลุ่มคนทิเบต อาศัยในภาคกลางและเหนือของประเทศ เป็นกลุ่มที่ปกครองและครองเศรษฐกิจโดยรวม 2. ซาโชป กลุ่มคนดั่งเดิมอยู่ทางตะวันออกของประเทศ กลมเกลียวและมีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับงาโรป และ 3. โลชามปา คนเชื้อสายเนปาล อยู่ทางตอนใต้ของประเทศติดอินเดีย
ซึ่งชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาอย่างมากในการอยู่อาศัยในภูฏานในช่วงเวลาดังกล่าวคือกลุ่มคนโลชามปา ซึ่ง ได้รับผลกระทบอย่างมากหลังรัฐบาลภูฏานเริ่มบังคับใช้กฎหมายสัญชาติในปี 1985 ซึ่งระบุว่า ผู้ที่จะถือสัญชาติภูฏานได้ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีพ่อแม่เป็นคนภูฏาน และอยู่มาก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 1958
ข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลให้ชาวโลชามปาจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาการขอสัญชาติจากรัฐบาลภูฏานในเวลานั้น เนื่องจากบางส่วนนั้นอพยพเข้ามาตั้งรกรากในภายหลัง หรือบางส่วนก็เดินทางไปมาระหว่างอินเดีย เนปาล และภูฏาน จึงยากที่จะหาเอกสารยืนยันตัวตน
ปัญหาดังกล่าวขยายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลภูฏานกับกลุ่มคนโลชามปา ที่มีการก่อวินาศกรรม และจลาจลในบางพื้นที่ภายในภูฏาน ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎหมายฉบับนี้แล้ว เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารของประเทศ
ลักษณะดังกล่าวนำมาซึ่งการผลักดันและบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรงของรัฐบาลภูฏานในเวลานั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาผู้อพยพจากความขัดแย้งดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่ามีผู้อพยพและคนพลัดถิ่นจากปัญหาดังกล่าวราวหลักแสนคน
โดยพื้นที่สำคัญที่ผู้อพยพเหล่านี้เดินทางไปนั้นคือประเทศเนปาล ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน หรือในบางครัวเรือนก็มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเนปาล ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้เนปาลต้องรับผู้อพยพชาวภูฏานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก จนยากจะรับไหว และเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาช่วยเหลือ
ยิ่งไปกว่านั้นคือการเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลภูฏานเพื่อนำพาผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศ ซึ่งรัฐบาลภูฏานก็ระบุชัดเจนว่ายินดีที่จะรับคนเหล่านี้กลับหากพิสูจน์ได้ว่าถือสัญชาติภูฏานอย่างแท้จริง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้มีผู้อพยพที่กลับไปภูฏานได้จริงๆ น้อยมาก
และจนถึงวันนี้ปัญหาผู้อพยพชาวโลชามปายังคงไม่สิ้นสุด และยังมีแคมป์ผู้อพยพกลุ่มนี้อยู่ในประเทศเนปาล กลายเป็นปัญหาเรื้อรังระหว่างเนปาลและภูฏานจนกระทั่งถึงวันนี้ที่ยังคงแก้ไขไม่แล้วเสร็จ และถือเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าภูฏานเองก็มีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเช่นเดียวกัน