ย้อนรอยกรณีดัง ศาลรัฐธรรมนูญ “ฟัน” นายก ฟันไป 4 รอดมาได้แค่คนเดียว
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กลายมาเป็นที่น่าจับตาอีกครั้ง ภายหลังจากการมีมติ 6:3 วินิจฉัยให้ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของฝ่ายค้าน ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อย้อนดูประวัติคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจของสังคมเป็นอย่างมากนับตั้งแต่การตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ก็เริ่มเกิดวาทกรรม “ตุลาการภิวัฒน์” ขึ้น นอกจากนี้เมื่อนับเฉพาะคำตัดสินที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีจะพบว่ามีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น “6 คำวินิจฉัย” และที่สำคัญ 3 ใน 6 ของคำวินิจฉัย ก็เป็นการตัดสินต่อตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น
กรณีแรกที่เป็นที่โด่งดังและสร้างการรับรู้ของศาลรัฐธรรมนูญต่อประชาชนคงหนีไม่พ้น การตัดสินวันที่ 9 กันยายน 2551 ได้มีการวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นลูกจ้างเอกชน ต่อมาภายในวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น ก็ได้มีการตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกันเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น และหลังจากนั้นเกือบ 5 ปีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลับขึ้นมาเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ผ่านการวินิจฉัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีลักษณะตรงกันข้ามอย่างชัดเจน โดยหากเริ่มจากกรณีที่มีการวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ในวันที่ 18 กันยายน 2562 จากนั้นต่อด้วยการวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และล่าสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 ภายหลังที่มีการตัดสินให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หลังรับคำร้องเรื่องรัฐธรรมนูญห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเกิน 8 ปี ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้โดยให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ
ที่มา:
– ศาลรัฐธรรมนูญ “คำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ”, https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/more_news.php?cid=56&filename=index
– กรุงเทพธุรกิจ (2564) “ชวนรู้ ศาลรัฐธรรมนูญ” คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?”, https://www.bangkokbiznews.com/news/971278