ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งในปีนี้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันดังกล่าว
แน่นอนว่าก่อนหน้านี้กระแสการตอบรับของมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้นั้นได้รับการตอบรับจากนานาชาติเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
แต่ท่ามกลางกระแสดังกล่าวก็มีความพยายามเคลื่อนไหวแบนโอลิมปิกฤดูหนาวกรุงปักกิ่งในครั้งนี้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยแกนนำกลุ่มผู้อพยพชาวทิเบต ซินเจียง และชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกกดขี่จากจีน
โดยพวกเขาพยายามชูประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนที่เกิดขึ้นในหลายมณฑลที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่โดยเฉพาะในทิเบต และซินเจียง
ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ที่ชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด
และประเด็นเรื่องค่ายกักกันในซินเจียงก็ถูกใช้เป็นข้อต่อรองและวิพากษ์วิจารณ์จีนมาโดยตลอดของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีการห้ามบรรดาข้าราชการและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงเข้าประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐฯ ยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ออกมาเพื่อแบนธุรกิจและกลุ่มทุนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด เพราะคนจีนก็ลุกขึ้นมาแบนบริษัทของต่างชาติที่แบนสินค้าจากซินเจียงจากปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
แต่เรื่องราวของซินเจียงดูจะไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะมันได้กลายเป็นสาเหตุล่าสุดที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจแบนโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่งในปีหน้า โดยยังคงอนุญาตให้นักกีฬาแข่งขันได้ปกติ แต่ห้ามเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาดังกล่าว
แน่นอนว่าการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาทำให้จีนต้องลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างทันควันว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังทำนั้นคือความพยายามทำให้กีฬากลายเป็นเรื่องทางการเมือง และพยายามยั่วยุให้เกิดความแตกแยกและขัดแย้ง
ยิ่งไปกว่านั้นนักข่าวอาวุโสของ China Daily ถึงขั้นระบุว่า “เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานาธิบดีไบเดน จะมีอายุยืนยาวจนได้เห็นจีนแบนโอลิมปิกฤดูร้อนที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในปี 2028”
อย่างไรก็ตามดูเหมือนเรื่องราวการแบนโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้จะไม่จบที่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะบรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาก็ต่างออกมาประสานเสียงว่าจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของตัวเองเข้าร่วมงานมหกรรมกีฬาครั้งนี้เช่นเดียวกัน
ที่ชัดเจนที่สุดก็คือออสเตรเลีย ที่นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ที่ออกมาโจมตีปัญหาสิทธิมนุษยชนของจีนในซินเจียงอย่างรุนแรง พร้อมกล่าวย้ำว่าจะดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาที่จะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียเข้าร่วมงานกีฬาโอลิมปิกที่จีน
นอกจากนี้ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และแคนาดา ก็ล้วนแล้วแต่ใช้มาตรการในการแบนปักกิ่งโอลิมปิก ในลักษณะเดียวกับสหรัฐอเมริกาด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหลายชาติที่ออกมาประกาศว่าไม่ได้มีมาตรการแบนปักกิ่งโอลิมปิก ทำให้ปัจจุบันมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง กลายสภาพเป็นเหมือนกึ่งประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจับตามองท่าทีของจีนต่อจากนี้