สภาล่ม สัญญาณชีพของรัฐบาลผสมหลายพรรค

รอยร้าวท่ามกลาง #สภาล่ม ของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงถึงสองทัศนัยยะทางการเมืองทั้งอนาคตของสภาและการเมืองไทย นัยแรกแสดงถึงชีพจรสัญญาณของรัฐบาล นัยยะที่สองแสดงถึง ความไม่ลงรอยกันในเชิงความคิดของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เหตุใดสภาล่มถึงกำหนดชีพจรสัญญาณของรัฐบาล นั้นคงจะคาดเดาไม่ยากเพราะเนื่องด้วยองค์ประชุมที่เป็นเสียงส่วนใหญ่นั้นอยู่ทางฟากฝั่งรัฐบาล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุมองค์ประชุมไว้เพื่อผ่านญัตติหรือร่าง พ.ร.บ. สำคัญๆ หากฝ่ายรัฐบาลคุมเสียงไม่ได้ ในทางการเมืองถือว่าเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายค้านไปโดยปริยาย เพราะอาวุธเดียวในสภาที่ดูเหมือนจะเล็กแต่พริกขี้หนูคงจะเป็นการนับองค์ประชุมนี้แล

ย้อนไปในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ก็เสนอนับองค์วันละ 3 เวลา จนวิปรัฐบาลต้องทำงานกันอย่างหนักพอสมควร โอกาสเล่นทีเผลอของฝ่ายค้านแบบนี้เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายหรือญัตติที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยก็มักแสดงออกด้วยการ Walkout หรือนับองค์ประชุมกันดื้อๆ เพื่อดูความพร้อมของรัฐบาล แต่ยุคนั้นไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นักเพราะเสียงของสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งของสภา

แต่ถ้าย้อนไปสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง สภาล่มอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเกิดการต่อรองระหว่างพรรคร่วมด้วยกัน สังเกตได้จากกรณีสภาล่มทุกปี โดยเฉพาะในปี 2553 ที่สภาล่ม ถึง 11 เดือน 11 ครั้ง

และล่มสามครั้งติดต่อกันในเดือนมีนาคม 2554 หลังการประกาศแผนยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมของนายกฯ หลังจากนั้น ส.ส. ในสภาทั้งค้านทั้งหนุน ต่างออกรอบหาเสียงไม่สนงานสภาจนล่มอีกหลายระลอกก่อนจะปิดท้ายสภาล่มในวันที่ 4 พฤษภาคม วันสุดท้ายของการประชุมส่งอำลารัฐบาล

สภาล่ม หนึ่งในสัญญาณชีพของรัฐบาลขณะเดียวกันก็เป็นอาวุธของฝ่ายค้านในการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง จากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในรัฐบาลผสมหลายพรรค การผุดขึ้นของสัญญาณดังกล่าวจะเห็นชัดและส่อว่ารัฐบาลกำลังมีปัญหา

และในปัจจุบันก็เช่นเดียวกันที่ 2 ปีหลังมานี้ รัฐบาลเผชิญเหตุการณ์สภาล่มในปี 2564 ถึง 8 ครั้ง และเปิดมาต้นปีก็ 3 ครั้ง ใกล้กันๆ

ภาษาการเมืองจังหวะนี้ต้องเรียกว่า “รัฐบาลกำลังหอบหม้อยาเสียแล้ว” เพราะเผชิญทั้งศึกปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าแก้ไม่หาย ก็ไม่วายเจอฤทธิ์ร้อยเอก หอบพลพรรคหนี ยังไม่รวมคนในพรรคที่กำลังจัดกระเป๋าอีกเตรียมเลือกตั้งครั้งนี้อีก งานนี้บอกเลยไม่หมูสำหรับนายกฯ ฟันธงได้ว่าหากรัฐบาลไม่รีบแก้ตอนนี้ จะป่วยการไม่ทันกินโอกาสในสภาล่มและยุบสภาฯ คงรออยู่ไม่เกินกลางปี ดับฝันประธานเอเปคของนายกฯ เป็นแน่แท้

อีกเหตุการณ์ต่อมา คือ ควันหลง การขย่มกันเองของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อักษรย่อ พท. และกก. ถึงความเห็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็บอกเป็นแทคติกทางการเมือง ฝั่งหนึ่งบอกอยากทำงานให้กับประชาชน กลายเป็นประเด็นดาบสองคมที่กองเชียร์ “นางแบกเพื่อไทย” กับ “ติ่งส้ม” ปะ ฉะ ดะ กันบนโลกออนไลน์ แสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกต่อกรณีความเห็นไม่ลงรอยกัน เหตุหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ฐานเสียงบางส่วนของ 2 พรรคนี้มีทับกันอยู่ โดยเฉพาะการแย่งเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เพื่อไทยพยายามจัดทัพรีแบรนด์ ถมสี พีอาร์กันยกใหญ่ ยิ่งเลือกตั้งงวดเข้ามาเมื่อไหร่ ก็จะเห็นกรณีแบบนี้อยู่เนืองๆ

#สภาล่ม ครั้งนี้ ใครจะอยู่ใครจะไปก็คงต้องรอการแก้เกมของนายกฯ ว่าจะลาก จะลา จะยุบ หรือจะยึด ตามแบบฉบับของ อ.สุรชาติ บำรุงสุข หรือไม่ รอติดตามครับ แต่ที่แน่ๆ งานนี้มีคนขาลอย…

ที่มา

– ผู้จัดการออนไลน์(2554), “สภาล่มจนหยดสุดท้าย!! “ชัย” บ่นอยากเอากาวติดก้น ส.ส.“อภิวันท์” อวยพรให้เจอกันใหม่”, https://mgronline.com/politics/detail/9540000054998

– ไทยรัฐออนไลน์(2554), “สภาล่มซ้ำซาก ปู่ชัยเหลืออด ซัดห่วงหาเสียง”,

https://www.thairath.co.th/content/167747

– สุรชาติ บำรุงสุข (2565),สัมภาษณ์พิเศษ : ดร.สุรชาติ #กบฎร้อยเอก รอยแตก 3 ป. ทางออก “ลาก-ลา-ยุบ-ยึด”, Matichon TV

– กรุงเทพธุรกิจ (2565), “เปิดสถิติร้อนสภาล่มซ้ำซาก สมฉายา “สภาอับปาง” ,

https://www.bangkokbiznews.com/politics/983577